ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม อดีต สส.และประธานนโยบายพรรค ปชป. เสนอ มาตรการคุมราคาน้ำตาล แก้ปัญหาเฉพาะหน้า กับแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง หลัง "เอลนีโญ" กระทบ ทำราคาพุ่ง และลดต้นทุนเพิ่มผลผลิตอ้อย

วันที่ 23 พ.ย. 2566 เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ห้องแถลงข่าวรัฐสภา ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม อดีต สส. และประธานนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน เพื่อฝากประเด็นไปยังรัฐบาลที่กำลังแก้ไขปัญหาราคาน้ำตาลแพง ครัวเรือนได้รับความเดือดร้อนกันทั่วหน้า โดยขอให้รัฐบาลดูแลให้น้ำตาลปลอดจากการกักตุน และควบคุมราคาขายปลีกไม่ให้ขายเกินที่กำหนด รวมทั้งต้องผลักดันให้การแบ่งผลประโยชน์ ระหว่างชาวไร่อ้อยกับโรงงานเป็นไปตามกฎหมาย ต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน ควบคุมไม่ให้เผาอ้อยเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม และจัดระบบให้มีการขนส่งทางราง เพื่อให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเป็นแหล่งการจ้างงานและรายได้ของประเทศ ซึ่งทำรายได้ส่งออกปีละกว่า 2 แสนล้านบาท เกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน

ปัจจุบันอ้อยเป็นแหล่งจ้างงานเกษตรกร 474,000 ราย มีพื้นที่การปลูกประมาณ 12 ล้านไร่ ปีนี้มีผลผลิตเป็นอ้อยดิบประมาณ 93 ล้านตัน ส่งโรงงานน้ำตาล 57 โรง ซึ่งสามารถผลิตน้ำตาลทรายประมาณ 10.5 ล้านตัน โดยใช้บริโภคภายในประเทศร้อยละ 25 และสำรองไว้เพื่อความมั่นคงในประเทศ 8 แสนตัน ที่เหลืออีกร้อยละ 65 ส่งออกไปต่างประเทศ ไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก รองจากบราซิลและอินเดีย มีการจัดระบบการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล 70:30 มาประมาณ 40 ปี ภายใต้ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มีการกำหนดให้กลไกของน้ำตาลในประเทศที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและโรงงาน ที่ผ่านมาราคาในประเทศจะสูงกว่าตลาดต่างประเทศ โดยมีประกาศราคาขายหน้าโรงงานไว้ที่ 19-20 บาทต่อ กก. ส่งผลให้คนไทยซื้อน้ำตาลในราคา 23-24 บาทต่อ กก. ในกรณีที่ราคาอ้อยขั้นต้นต่ำกว่าราคาตลาด รัฐก็มีการให้ความช่วยเหลือชาวไร่อ้อยมาเป็นระยะเวลายาวนาน

...

จากภัยแล้งทั่วโลกที่มาจากเอลนีโญ ทำให้โลกมีการผลิตน้ำตาลทรายลดลงมากกว่า 20% โดยเฉพาะอินเดีย ถึงกับมีมาตรการควบคุมการส่งออกน้ำตาลไปต่างประเทศ ส่งผลให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 12 ปี คำนวณมาเป็นเงินบาทอยู่ที่ 27-28 บาทต่อ กก. ประกอบกับต้นทุนการผลิตอ้อยเพิ่มขึ้นจากที่ 1,100 บาทต่อต้น เป็น 1,500 บาท ในฤดูกาลผลิตปี 65/66 ผู้ผลิตจึงเสนอให้เพิ่มราคาขายหน้าโรงงานอีก 4 บาท แต่รัฐบาลได้ต่อรองให้เพิ่ม 2 บาท แต่ตลาดภายในประเทศยังมีการกักตุ้นน้ำตาล ทำให้ราคาขายปลีกตามร้านทั่วไป ขยับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเกิน 30 บาทต่อ กก. และบางพื้นที่ไม่มีน้ำตาลขาย รัฐบาลโดยกรมการค้าภายในจึงออกประกาศเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 ให้น้ำตาลกลับมาเป็นสินค้าควบคุมอีกครั้ง และกำหนดราคาขายปลีกไม่เกิน 24-25 บาท โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 19 พ.ย. 66 เป็นต้นมา

แม้ว่ารัฐบาลได้ประกาศปรับราคาน้ำตาลเพิ่ม 2 บาทต่อ กก. แต่พรรคประชาธิปัตย์ยังเห็นว่าประชาชนยังมีความเดือดร้อนจากการขาดแคลน และในบางตลาดมีราคาแพงกว่า 30 บาทต่อ กก. ซึ่งเกินราคาควบคุม รวมทั้งยังไม่เห็นความชัดเจนของการแก้ไขเชิงโครงสร้าง และสร้างความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย จึงมีข้อเสนอขอให้รัฐบาลดำเนินการดังนี้

1. มาตรการเฉพาะหน้า รัฐบาลต้องใช้กลไกของไร่เพื่อตรวจสอบควบคุมอย่างจริงจัง สร้างความมั่นใจว่ามีน้ำตาลป้อนให้ตลาดอย่างเพียงพอ ไม่เกิดการขาดแคลน ซึ่งจะส่งผลให้การขายน้ำตาลของร้านค้าปลีกอยู่ในราคาที่กำหนด คือ น้ำตาลทรายขาวต้องไม่เกิน 25 บาท

2. มาตรการเชิงโครงสร้าง เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต

2.1 เร่งรัดบังคับใช้กฎหมาย ว่าด้วย "ผลพลอยได้" ตามคำนิยามของ พ.ร.บ.อ้อยน้ำตาลทราย ปี 2565 ที่การแบ่งปันผลประโยชน์ระบบ 70:30 ให้รวมประโยชน์ที่ได้จากชานอ้อยหรือกากอ้อยมาคำนวณด้าย ปัจจุบันยังมีการปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อความเป็นธรรมแก่ชาวไร่อ้อย

2.2 เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้มีผลผลิตสูงขึ้น การเพาะปลูกยังขึ้นกับอากาศและน้ำฝนเป็นหลัก ในปีที่มีน้ำสมบูรณ์ เช่น 2560/61 มีผลผลิตถึง 130 ล้านตัน ปัจจุบันประสิทธิภาพการผลิตของไทยอยู่ที่ 10 ตันต่อไร่ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 14 ตันต่อไร่ สมควรที่ต้องมีมาตราการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ แม้ว่าปัจจุบันรัฐจะให้เกษตรกรกู้เงินประเภท Soft loan อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2.0 วงเงินปีละ 2,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อมาปรับโครงสร้างการผลิต แต่มีเงื่อนไขที่ปฏิบัติได้ยากและเม็ดเงินยังน้อยเกินไป ในทางปฏิบัติกลับเป็นชาวไร่อ้อยรายใหญ่ที่ได้ประโยชน์จากมาตรการนี้ จึงควรปรับวงเงินเพิ่มเป็น 10,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยและเงื่อนไขควรผ่อนปรนให้มากกว่านี้ เพื่อให้ชาวไร่รายย่อยได้เข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้มากขึ้น

2.3 ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการตัดอ้อยสดแทนการเผา เนื่องจากการเผามีผลเสียกับทุกฝ่าย ทั้งตัวชาวไร่อ้อยจะได้ราคาอ้อยที่ลดลง ไม่ได้รับเงินชดเชยจากภาครัฐแล้ว ยังเป็นบ่อเกิด PM 10 และ PM 2.5 เป็นปัญหาสาธารณสุขจากมลภาวะเป็นพิษที่สำคัญในบ้านเรา แม้ว่าที่ผ่านมาภาครัฐจะรณรงค์และทำให้อัตราอ้อยเผากับอ้อยสด ลดลงจาก 65:35 เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา เหลือ 35:65 ในปัจจุบันก็ตาม แต่ยังเป็นอัตราที่สูงอยู่ รัฐจึงควรส่งเสริมอย่างจริงจัง ทั้งมาตราการจูงใจ โดยเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกร/สถาบันเกษตรกร ได้มีรถตัดอ้อยให้เพียงพอในช่วงหีบอ้อย จะเหมาะสมและเกิดความยั่งยืนกว่าการจูงใจให้เงินชดเชย 150 บาทต่อตันกับการตัดอ้อยสด รวมทั้งถึงเวลาที่ต้องมีการบังคับอย่างจริงจัง ที่ไม่ให้โรงงานรับซื้ออ้อยเผาอีกต่อไป แต่ควรมีระยะเวลาให้เกษตรกรปรับตัวสัก 2-3 ปี ก่อนมีผลบังคับใช้

2.4 สนับสนุนอุตสาหกรรมผลิตเครื่องจักรที่ใช้ในการตัดอ้อย ทดแทนการสนับสนุนการนำเข้าเครื่องจักรเก่าจากต่างประเทศ เพื่อให้มีการพัฒนาการผลิตเครื่องจักรกลเกษตร

และ 2.5 ส่งเสริมสนับสนุนการปรับเปลี่ยนระบบการขนส่งอ้อยด้วยรถบรรทุก เป็นการขนส่งด้วยระบบรางแทน ค่าขนส่งเฉลี่ย 200 บาทต่อตัน เป็นต้นทุนที่สำคัญ ขณะที่การปลูกอ้อยในบางพื้นที่ เช่น ภาคตะวันตก (นครปฐม ราชบุรี และกาญจนบุรี) และในบางจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตกว่าร้อยละ 50 ล้วนมีระบบรางรถไฟ ที่สามารถใช้ทำการขนส่งอ้อยดิบแทนรถบรรทุกได้ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งให้ลดลงไม่ต่ำกว่า 50% แล้ว ยังช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดช่วงฤดูหีบอ้อย รวมทั้งลดการซ่อมบำรุงทางหลวงจากการบรรทุกน้ำหนักเกินได้ด้วย.