หลังกลับจากประชุมเอเปกที่สหรัฐอเมริกาครั้งนี้ ดูเหมือนนายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” จะพกความมั่นใจเต็มกระเป๋ามาด้วย

เฉพาะ 15 บริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯที่ยืนยันจะร่วมลงทุนกับไทย ด้วยเม็ดเงินหลายแสนล้านบาทแล้ว

ยังมีอีกหลายบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ อันเกี่ยวพันกับความต้องการของไทย ที่จะสร้างประเทศเข้าสู่ระบบ “ดิจิทัล” อย่างเต็มที่

ถือเป็นความฝันอย่างหนึ่งที่หวังจะให้ประเทศมีความก้าวหน้าทันสมัย แข่งกับอีกหลายประเทศที่รุดหน้าไปก่อนแล้ว

แต่เหนืออื่นใด ความยากง่ายเรื่องเหล่านี้ต้องคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงของ “คน” ด้วย ได้มีการสำรวจแล้วพบว่า ศักยภาพของคนในประเทศต่างๆนั้น ยังมีความแตกต่างกันมาก ดังนั้นจึงมีผลต่อการพัฒนาด้วย

เท่าที่มีการจัดอันดับแล้วพบว่า สวิสอยู่ในอันดับ 2 สิงคโปร์ตามมาที่ 2 จีนอันดับที่ 40 บรูไนอันดับที่ 41 มาเลเซียอันดับที่ 42 เวียดนามอันดับที่ 75 อินโดนีเซียอันดับที่ 80

ไทยอันดับที่ 79 ถือว่ายังอยู่ตรงกลาง

แต่ไทยมีปัญหาเนื่องจากขาดแคลนกำลังคนที่มีศักยภาพด้านภาษาอังกฤษและดิจิทัล เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ

พลเมืองไทยมีจำนวน 65.5 ล้านคน แต่มีพื้นฐานแค่ 17% ทักษะแค่ 10% รวมถึงทักษะที่ก้าวหน้าแค่ 1% เท่านั้น

เปรียบกับมาเลเซีย ฮ่องกง เกาหลีใต้ เราสู้เขาไม่ได้เลย

นี่เป็นเรื่องที่จะต้องคิดและหาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะมิฉะนั้นจะเกิดอุปสรรค ที่แม้เราจะได้บริษัทดีๆ เก่งๆ ขั้นสุดยอดของโลกมาตั้งฐานในเมืองไทยก็ตาม

ผมไม่รู้ว่านายกรัฐมนตรีจะทราบข้อมูลอย่างนี้หรือไม่?

เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องดำเนินการให้สอดรับกัน เพื่อที่จะได้พัฒนาก้าวไปข้างหน้าได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ

...

อย่างหนึ่งที่รับรู้กันมานานแล้วว่า คนไทยนั้นมีข้อด้อยในเรื่องภาษาอังกฤษมานานแล้ว ขนาดผู้นำประเทศหลายคน ก็พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ซึ่งมีปัญหาอย่างมากในการสื่อสารที่ต้องใช้ล่ามแปล

นายกรัฐมนตรีที่รํ่าเรียนมาจากต่างประเทศจึงพูดได้คล่องแคล่ว ทำให้สามารถที่จะสื่อสารได้โดยตรง

ความสำเร็จในการเจรจากับบริษัทใหญ่ระดับโลกนั้นตรงนี้คือส่วนหนึ่งที่ชัดเจน ต่างกับรัฐบาลชุดที่ผ่านมา

นั่นทำให้ 9 ปีที่ผ่านมา แทบจะไม่มีบริษัทใหญ่ๆระดับโลกเข้ามาลงทุนเลยก็ว่าได้ เพราะผู้นำประเทศตอนนั้นติดปัญหาในเรื่องภาษาด้วย

เมื่อคนไทยอ่อนด้อยเรื่องภาษา ก็มีผลต่อ “ดิจิทัล” อย่างแยกไม่ออก

ผมว่านายกรัฐมนตรีจะต้องเร่งแก้ไขอย่างจริงจังและเร่งด่วน ให้กระทรวงศึกษาและ อว.เข้ามาร่วมคิด และหาทางแก้ไขอย่างเป็นระบบและเอาจริงเอาจัง

มิใช่เน้นเฉพาะที่เกี่ยวกับด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่นี่เป็นพื้นฐานที่จะสร้างคนให้มีศักยภาพขึ้นมารองรับความเปลี่ยนแปลงที่ทันสมัย

ยิ่งรัฐบาลชุดนี้ไม่ค่อยจะให้ความสำคัญด้านการศึกษาและสังคม ยิ่งเกิดช่องว่างในการพัฒนา “คน” ให้เข้าสู่ยุค “ดิจิทัล” ด้วย

วันนี้รัฐมนตรีศึกษากลายเป็น “คนที่โลกลืม” ไปแล้ว!

“สายล่อฟ้า”

คลิกอ่านคอลัมน์ "กล้าได้กล้าเสีย" เพิ่มเติม