ครม. 21 พ.ย. 66 มีมติให้ความเห็นชอบ ร่างกฎหมายยกเลิก พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ทั้งฉบับ 

วันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ความเห็นชอบตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว 

มีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ทั้งฉบับ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้า เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชนและพึงกำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง ตามบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และเพื่อให้สอดคล้องกับข้อ 11 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมืองที่กำหนดให้บุคคลจะถูกจำคุกเพียงเพราะเหตุว่าไม่สามารถปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญามิได้

ทั้งนี้ ได้ดำเนินการตามแนวทางการจัดทำและการเสนอร่างกฎหมายตามบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว โดยมีการรับฟังความคิดเห็นก่อนเสนอ ครม. และในชั้นการตรวจพิจารณาของ สคก. มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมทางเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย ระหว่างวันที่ 2-16 สิงหาคม 2565 (รวม 15 วัน) และได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายตามแนวทางมติ ครม. เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 เรื่อง การดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 พร้อมทั้งเผยแพร่การรับฟังความคิดเห็นพร้อมการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายผ่านทางเว็บไซต์เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบแล้ว

...

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

  • กำหนดมาตรการเพื่อรองรับกรณีที่เจ้าหนี้ได้ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีอาญาแล้ว และในกระบวนพิจารณาของศาล เจ้าหนี้และลูกหนี้ได้ตกลงให้มีการผ่อนชำระเงินตามข้อตกลงที่ปรากฏในรายงานกระบวนพิจารณา โดยให้ถือว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามกฎหมาย และหากต่อมาลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว เจ้าหนี้มีสิทธิยื่นคำขอต่อศาลให้ออกคำบังคับได้โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่

  • กำหนดศาลที่มีอำนาจในการพิจารณาและพิพากษาคดีในส่วนแพ่ง

  • กำหนดมาตรการเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อปล่อยตัวผู้ต้องโทษ
    (1) ในกรณีของผู้ที่อยู่ระหว่างการต้องโทษจำคุก
    (2) ในกรณีของผู้ที่อยู่ระหว่างการคุมประพฤติหรือการพักการลงโทษ

  • กำหนดวิธีการคำนวณโทษจำคุกในกรณีที่ผู้ต้องโทษจำคุกได้รับโทษจำคุกสำหรับความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค และความผิดตามกฎหมายอื่น ซึ่งเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน และถ้าโทษที่ได้รับไปแล้วเท่ากับหรือเกินโทษที่ได้รับสำหรับการกระทำความผิดตามกฎหมายอื่นนั้น ให้ปล่อยตัวผู้ต้องโทษโดยทันที

  • กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้