นายกฯ ชู 3 แนวทาง “ความยั่งยืน-การค้าการลงทุนที่เปิดกว้าง-ความเชื่อมโยงเวทีผู้นำเอเปก” มั่นใจ เป็นแนวทางสู่ประชาคมเอเชีย-แปซิฟิกที่เปิดกว้าง มีพลัง ฟื้นตัวได้ และสงบสุข
วันที่ 18 พ.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 17 พ.ย. (ตามเวลาท้องถิ่นนครซานฟรานซิสโก ช้ากว่า กทม. 15 ชั่วโมง) ที่ศูนย์ประชุมมอสโคนีเซ็นเตอร์ (Moscone Center) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกในรูปแบบ Retreat (APEC Economic Leaders’ Retreat (Session II)) หัวข้อ “Interconnectedness and Building Inclusive and Resilient Economies” และร่วมรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 30
โดยนายกฯ กล่าวถ้อยแถลงเป็นลำดับที่ 18 ต่อจากผู้นำจีนไทเป ประธานาธิบดีเวียดนาม นาง Kristalina Georgieva กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) นำเสนอภาพรวมเศรษฐกิจโลกใน ค.ศ. 2023
...
นายกฯ กล่าวว่า ท่ามกลางความไม่แน่นอนของโลก ประเทศไทยยังคงมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ต่อระบบการค้าพหุภาคีและเอเปก เพื่อมุ่งสู่ประชาคมเอเชีย-แปซิฟิก ที่เปิดกว้าง ยืดหยุ่น และสงบสุข โดยได้มีการหารือและสนทนาเกี่ยวกับวิธีการต่อสู้กับปัญหาสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเห็นพ้องกับผู้นำทุกคนว่า ถึงเวลาที่ต้องลงมือให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยเสนอ 3 มุมมองที่เป็นประโยชน์ต่อเอเปก คือ 1. ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสานต่อพัฒนาการเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ที่ปีนี้เอเปกมีความก้าวหน้าอย่างมาก โครงการมากกว่า 280 โครงการ ตอบสนองต่อเป้าหมายฯ นี้ ขณะที่ ABAC เดินหน้าผลักดันการจัดทำ BCG Pledge การจัดการประชุม Sustainable Future Forum ครั้งแรก เพื่อกระตุ้นธุรกิจและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น 2. เปิดการค้าและการลงทุนอย่างเติบโตและรุ่งเรือง เอเปกสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีที่ยึดกฎเกณฑ์ โดยมีองค์การการค้าโลก (WTO) เป็นแกนกลาง เป็นกุญแจสำคัญ รวมถึงการมีส่วนร่วมไปสู่ผลลัพธ์ที่มีความหมายในการประชุมรัฐมนตรีครั้งต่อไป (the Thirteenth Ministerial Conference (MC13))
นายกฯ กล่าวว่า ไทยผลักดันความพยายามอย่างต่อเนื่องในเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) เพื่อความก้าวหน้าในการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค และไทยจะเร่งเจรจา FTA อื่นในเชิงรุก รวมทั้งยกระดับการเจรจาที่มีอยู่ เพื่อรับมือกับความท้าทายทางการค้าที่จะเกิดขึ้นใหม่ 3. เสริมสร้างความเชื่อมโยง เพื่อเศรษฐกิจและห่วงโซ่อุปทานที่มีความยืดหยุ่น โดยไทยกำลังเดินหน้าโครงการแลนด์บริดจ์ (Landbridge) เชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย และรวมทั้งยังได้อนุมัติวีซ่าฟรี ส่งเสริมการท่องเที่ยว และสนับสนุนความต่อเนื่องของบัตรเดินทางสำหรับนักธุรกิจเอเปก (APEC Business Travel Card) ให้ครอบคลุมมากขึ้น เพื่อสนับสนุน MSMEs และสตาร์ทอัพอีกด้วย ทั้งนี้ ยินดีกับสหรัฐฯ ในการเป็นเจ้าภาพการประชุมที่เป็นประโยชน์ครั้งนี้ โดยไทยพร้อมร่วมประสานความร่วมมือกับเปรู เพื่อสานต่อความสำเร็จนี้ต่อไป.