นายกฯ พบผู้บริหารและนักศึกษา ม.Stanford หารือภาคเอกชน สหรัฐฯ เพิ่มความเชื่อมั่น สานสัมพันธ์ให้ใกล้ชิด ใช้ศักยภาพไทยเป็นฐานสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาค เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของบริษัทในภูมิภาคเอเชีย

วันที่ 14 พ.ย. เมื่อเวลา 09.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นนครซานฟรานซิสโก ซึ่งช้ากว่าเวลาที่กรุงเทพฯ 15 ชั่วโมง) ณ มหาวิทยาลัย Stanford นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พบหารือและพบปะนักศึกษา โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า รัฐบาลมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนประเทศไทย จึงอยากจะเชิญชวนให้มหาวิทยาลัย Stanford เป็นพันธมิตรสำคัญของประเทศไทย ทั้งในการแลกเปลี่ยนความร่วมมือทางวิชาการ การวิจัยและการพัฒนา โดยนายกฯ ชื่นชมความร่วมมือที่ผ่านมาของมหาวิทยาลัย ซึ่งล่าสุดมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในหลักสูตรอบรม Big Data โดยทางมหาวิทยาลัยหวังที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างคณะในมหาวิทยาลัยไทยในโครงการแลกเปลี่ยน (Faculty Exchange Program)

...

โดยในการพบปะกับนักศึกษาไทย นายกฯ ได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนอย่างเป็นกันเองกับนักศึกษาไทยในประเด็นที่สนใจ อาทิ ปัญหาสภาพภูมิอากาศ ฝุ่นละออง PM 2.5 ประเด็นด้านการศึกษา ซึ่งนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นักศึกษาไทยที่ได้มาเรียนที่นี่ถือเป็นโอกาสที่ดี โดยที่เดินทางมาครั้งนี้ได้พบหารือกับภาคเอกชนชั้นนำของสหรัฐฯ รายหลาย และได้ย้ำว่าในเวลานี้ประเทศไทยเปิดรับการลงทุนแล้ว และบริษัทรายใหญ่เหล่านี้ต่างเห็นว่าคนไทยมีศักยภาพและมีความสามารถ แต่ก็ยังมีจำนวนที่ไม่เพียงพอ นายกฯ จึงตั้งใจที่จะเชิญชวนภาคเอกชนเหล่านี้เข้ามาลงทุน และส่งเสริมแลกเปลี่ยนทักษะ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญจากบุคคลเหล่านี้ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับคนไทย

จากนั้นพบหารือภาคเอกชนชั้นนำของสหรัฐฯ ดังนี้

บริษัท Walmart เป็นบริษัทค้าปลีกสัญชาติอเมริกา และเป็นหนึ่งในผู้ค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีสาขามากกว่า 10,500 สาขา ใน 20 ประเทศทั่วโลก โดยบริษัทฯ ประกาศว่าจะลงทุน เพื่อปรับโฉมร้านค้าให้ทันสมัยขึ้น พร้อมเพิ่มขนาดร้านขายยา เพิ่มจุดชําระเงิน และแผนกอาหารในสาขา

นายกรัฐมนตรีขอบคุณที่บริษัท Walmart ดำเนินการจัดซื้อ หาสินค้าจากไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยนายกฯ ยังได้เชิญชวนให้บริษัทฯ พิจารณาจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าในไทย ซึ่งจะช่วยให้บริษัทฯ สามารถใช้ประโยชน์จากจุดแข็งในสถานที่ตั้งที่ใกล้กับแหล่งกำเนิดสินค้า เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับ supply chain อีกทั้งไทยยังเหมาะที่จะเป็นแหล่งที่ตั้งสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคอีกด้วย ทั้งนี้ ไทยส่งเสริมผลิตภัณฑ์ฮาลาล และผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของไทย ที่ถือเป็น soft power อย่างหนึ่ง

โดยทางผู้บริหารบริษัท Walmart กล่าวว่า ทางบริษัทฯ มองประเทศไทยเป็นผู้ผลิตสินค้าและวัตถุดิบที่มีศักยภาพ (potential supplier) อาทิ สินค้าเกษตร (ข้าวและผลไม้ฤดูร้อน เป็นต้น) โดยคาดว่าในไตรมาสแรกของปีหน้า จะเดินทางไปเยี่ยมเยือนเมืองไทย เพื่อไปหาสินค้าและวัตถุดิบใหม่ๆ ซึ่งหากไทยเห็นว่ามีสินค้าใดที่มีศักยภาพก็สามารถแนะนำได้

บริษัท Western Digital เป็นผู้ผลิต Hard Disk Drive (HDD) รายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นฐานการผลิต Hard Disk Drive ที่ใหญ่ที่สุดของบริษัท และเป็นโรงงานผลิต HDD เพียงแห่งเดียว ที่มีขั้นตอนการประกอบ ทดสอบ ขั้นสุดท้าย บริษัทฯ จึงมีส่วนช่วยสำคัญให้ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออก HDD รายใหญ่ที่สุดของโลก

นายกฯ ยินดีที่ได้ทราบว่า บริษัทฯ ย้ายสายการผลิตหัวอ่าน (Recording Head) ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญที่สุดชิ้นส่วนหนึ่งของระบบ HDD ทั้งหมดมาที่ไทย ซึ่งการเลือกย้ายฐานผลิตหัวอ่านมาไทยนี้ จะทำให้ไทยเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนสำคัญนี้แห่งเดียวในโลกของ WD แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของบริษัทที่จะขยายลงทุนต่อเนื่องในไทย

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไทยมีนโยบายส่งเสริมพลังงานสีเขียว (green energy) ซึ่งทางบริษัทฯ กล่าวชื่นชมและยินดีกับนโยบายนี้ของไทยเป็นอย่างมาก ถือเป็นนโยบายที่เป็นจุดเด่นของไทย โดยบริษัทกำลังผลิตผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น จึงมีความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของบริษัท และต้องการใช้พลังงานสะอาดอย่างมาก นอกจากนี้ นายกฯ หวังว่าบริษัทฯ จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะของไทย (skilled labour) ขอให้มั่นใจว่ารัฐบาลและสถาบันการศึกษาของไทย พร้อมที่จะร่วมมือกับ WD เพื่อพัฒนาทักษะ (upskill) แรงงานท้องถิ่น ให้พร้อมสำหรับแผนการลงทุนในอนาคต พร้อมย้ำว่า ไทยพร้อมและเปิดประเทศเพื่อรับการลงทุนแล้ว ซึ่งบริษัทฯ มีความโดดเด่นด้านการพัฒนาบุคลากรไทยมาอย่างต่อเนื่อง หัวหน้าโรงงานทั้งสองแห่งของบริษัทก็เป็นคนไทย จึงพร้อมที่จะร่วมมือและมีศักยภาพที่จะรองรับอย่างดี

โอกาสนี้ บริษัทฯ ยังได้กล่าวชื่นชมมาตรการวีซ่าประเภทใหม่ของไทย “Long-Term Resident (LTR)” ที่เอื้อและเพิ่มความน่าดึงดูดในการอยู่อาศัยและลงทุนในกลุ่มบุคคลที่มีศักยภาพสูงมาประเทศไทยมากขึ้น โดยขณะนี้บริษัทฯ ยังพิจารณาที่จะย้าย Headquarter มาตั้งที่ไทยด้วย

บริษัท Google บริษัทดำเนินธุรกิจบริการด้านซอฟต์แวร์และโซลูชันชั้นนำระดับโลก มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองเมาน์เทนวิว มลรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยผลิตภัณฑ์หลักที่ให้บริการหลากหลาย อาทิ กลุ่มการให้บริการสื่อและโฆษณา ( Media and Advertising) และกลุ่มการให้บริการบนระบบคลาวด์ (Cloud Services) เป็นต้น ทั้งนี้ บริษัทมีแผนที่จะลงทุนสร้าง Data Center เพิ่มเติมในอาเซียน โดยประเทศ ไทยเป็นหนึ่งในทางเลือกสำคัญ

นายกรัฐมนตรียินดีกับการครบรอบ 10 ปี Data Center แห่งแรกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่ฉางหัว ไต้หวัน และยินดีที่ Google พิจารณาไทยเป็น 1 ในสถานที่ตั้งที่มีศักยภาพสำหรับการสร้าง Data Center ประเทศที่ 11 ของบริษัทจากทั่วโลก และแห่งที่ 4 ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ทั้งนี้ ในนามของรัฐบาลไทย นายกฯ ยินดีสำหรับการลงนาม MOU ระหว่าง Google กับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) บ่งบอกถึงความสำเร็จครั้งสำคัญในความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อไปสู่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และการเติบโตทางเศรษฐกิจ ไทยเชื่อมั่นว่าความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลของประเทศ และพัฒนาการให้บริการสาธารณะผ่านการเปลี่ยนแปลงบริการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมสนับสนุนการลงทุนในไทยของบริษัทฯ อย่างเต็มที่

บริษัท Microsoft บริษัทดำเนินธุรกิจ 3 ส่วนหลัก ได้แก่ Productivity and Business Processes, Cloud (Azure) ครอบคลุมทั้งรูปแบบ Public, Private และ Hybrid และ Personal Computing ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ เช่น คอมพิวเตอร์ แล็ปท็อป แท็บเล็ต ทั้งนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาแผนการลงทุน Data Center ขนาดใหญ่ในประเทศไทย

นายกรัฐมนตรียินดีกับบริษัท Microsoft ที่ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับรัฐบาลไทย ซึ่งยืนยันถึงความมุ่งมั่นและความพร้อมของรัฐบาลไทย ในการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงการให้บริการสาธารณะด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เชื่อมั่นว่าความร่วมมือครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลของประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ และปรับปรุงการให้บริการสาธารณะผ่านการเปลี่ยนแปลงบริการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ขอให้มั่นใจได้ว่าการลงทุนในประเทศไทยจะได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐบาลไทย

รัฐบาลทราบดีว่า พลังงานสะอาดเป็นหนึ่งในปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญสำหรับธุรกิจของ Microsoft ในการบรรลุเป้าหมาย ESG ประเทศไทยได้เตรียมกลไกใหม่ที่เรียกว่า Utility Green Tariff (UGT) ที่นำเสนอพลังงานหมุนเวียนพร้อมแหล่งที่ตรวจสอบย้อนกลับได้ และมาพร้อมกับ REC (ใบรับรองพลังงานทดแทน) ซึ่งกลไกนี้สอดคล้องกับข้อกำหนด RE100 อย่างมีประสิทธิภาพ นายกฯ เชื่อว่าการหารือในวันนี้จะเป็นสะพานเชื่อมทั้งสองฝ่ายไปสู่โอกาสทางธุรกิจ และการลงทุนในอนาคตอันใกล้นี้.