"ไทย" เรียกร้องสมาชิก "เอเปก" ลงนามปฏิญญา Bangkok Gold ผลักดันภาคเอกชนเดินหน้าธุรกิจสะอาด ขณะสาวไทย สุดเจ๋ง คว้ารางวัล "บีซีจี อวอร์ด" นำแนวทางเศรษฐกิจ BCG ไปใช้จัดการขยะ ใช้พลังงานสะอาด
วันที่ 15 พ.ย. 2566 นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ช่วย รมว.ต่างประเทศ เป็นตัวแทน นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวบนฟอรั่มหัวข้อเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Future Forum) ซึ่งประเทศไทยได้รับเชิญจากประเทศเจ้าภาพคือสหรัฐอเมริกา ให้มาเล่าเป้าหมาย BCG หรือแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียวที่ไทยผลักดันให้มีปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ค.ศ. 2022 ได้สำเร็จจนกลายมาเป็นหนึ่งในวาระหลักของเอเปกที่สหรัฐอเมริกาในครั้งนี้
นายสีหศักดิ์ ระบุว่า ภายใต้เป้าหมายเศรษฐกิจสีเขียวแต่ละข้อ คือ เส้นทางสู่การพัฒนาภาคส่วนที่สำคัญ เช่น พลังงานทดแทน การค้าสินค้าและบริการเพื่อสิ่งแวดล้อม การขนส่งและโลจิสติกส์ที่ยั่งยืน และการท่องเที่ยวเชิงฟื้นฟู นอกจากนี้ยังต่อยอดจากขั้นตอนการทำงานก่อนหน้านี้ของ APEC รวมถึงขยะทะเล การตัดไม้อย่างผิดกฎหมาย และการทำประมง IUU
จึงขอเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกร่วมกันลงนามในปฏิญญา Bangkok gold ให้ภาคธุรกิจต่างๆ มีส่วนร่วมดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายกรุงเทพฯ
พร้อมยืนยันด้วยว่า ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะต่อยอดเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซลง 40% ภายในปี 2583 และบรรลุเป้าหมายคาร์บอนเป็นกลางภายในปี 2593 และทำให้เป็นศูนย์ภายในปี 2568 และด้วยการสนับสนุนทางการเงิน เทคโนโลยี และการสร้างขีดความสามารถ โดยปีที่ผ่านมาประเทศไทยสามารถลดก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานและการขนส่งได้ 15%
จากนี้จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 50% ภายในปี 2583 และมุ่งมั่นที่จะเพิ่มการผลิตรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์เป็น 30% ภายในปี 2573 ตั้งเป้าที่จะเป็นแชมป์การพัฒนาของอุตสาหกรรม EV ด้วยการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ครอบคลุมยานพาหนะไฟฟ้าทุกประเภทตลอดจนชิ้นส่วนและส่วนประกอบทั้งหมด
...
ขณะเดียวในครั้งนี้เอเปกได้ประกาศรายชื่อผู้ชนะรางวัล BCG Award ครั้งแรกจำนวน 6 ราย โดยคัดเลือกจากสตรี เยาวชนและวิสาหกิจขนาดเล็ก ที่นำแนวทางเศรษฐกิจ BCG ไปใช้อย่างเป็นรูปธรรม และหนึ่งในนั้น นางสาวนวลลออ เทอดเกียรติกุล เป็นคนไทย ซึ่งเป็นเจ้าของฟาร์มอะโรแมติกส์ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2560 โดยฝึกฝนเทคนิคการทำฟาร์มแบบอัจฉริยะ นำการจัดการขยะที่ยั่งยืนมาใช้ ใช้พลังงานสะอาดและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อให้มั่นใจถึงประสิทธิภาพสูงสุด มีการควบคุมคุณภาพ และติดตามผลิตภัณฑ์ในการเก็บเกี่ยวมะพร้าวน้ำหอม จนผลิตภัณฑ์ของบริษัทเป็นผลิตภัณฑ์แรกที่ได้รับสถานะสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น และรับประกันคุณภาพของสินค้าทุกชิ้น ซึ่งเป็นผู้ได้รับรางวัลนั้นด้วย