"ศิริกัญญา" ขอ อย่าบิดเบือน ซัด รัฐอ้างวิกฤติเศรษฐกิจ จำเป็นต้องออก พ.ร.บ.เงินกู้ แจกดิจิทัลวอลเล็ต พร้อมย้ำขัดกฎหมาย เชื่อ ธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่สนับสนุน มอง "เศรษฐา" ไม่ได้หวังเอาชนะ แค่รักษาคำพูด

วันที่ 13 พ.ย. น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ระบุว่า น.ส.ศิริกัญญา เคยเห็นด้วยกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ว่า วันนี้โครงการดิจิทัลวอลเล็ตถูกเบี่ยงเบนรายละเอียดมาไกลมาก จากที่ใช้เงินในงบประมาณ กลายมาเป็นการออก พ.ร.บ.กู้เงิน จากที่เคยให้ถ้วนหน้า ก็มีการจำกัดคนที่มีรายได้สูง

ซึ่งจะบอกว่าเห็นด้วย เป็นการตีความที่เกินเลย ซึ่งยอมรับว่าเคยพูดคุยกันจริงในฐานะที่เป็นพรรคที่จะร่วมรัฐบาลกันว่า โครงการไหนที่อยากจะทำ ก็หยิบมาวางไว้บนโต๊ะ และได้พูดคุยกันว่า ดิจิทัลวอลเล็ต จะทำหรือไม่ ถ้าจะทำ ก็ทำได้ แต่เงินไม่พอ ซึ่งวันนั้นก็กางตัวเลขงบประมาณให้ดูกันชัดๆ ว่าเหลือเท่าไร แบ่งกันแล้วเหลือให้แต่ละพรรคทำโครงการพรรคละ 4-5 แสนล้านบาท

ดังนั้นจะทำทั้งก้อนจึงเป็นไปไม่ได้ ซึ่งก็คุยตรงไปตรงมา จึงขอร้องว่าอย่าบิดประเด็น อย่าเบี่ยงประเด็นไปไกลกว่านี้ คำถามสั้นๆ และตรงไปตรงมา คือ เมื่อการออก พ.ร.บ.เงินกู้ 500,000 ล้านบาท ในครั้งนี้มีท่าทีว่าจะผิดกฎหมายของมาตรา 53 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ทางเพื่อไทยและรัฐบาลทำไมถึงคิดจะเดินหน้าทำต่อ มีเหตุผลอะไร ซึ่งทุกวันนี้ยังไม่ได้รับเหตุผลใดๆ กลับคืนมา เป็นแค่การขุดอดีตเพื่อสร้างความชอบธรรมบางอย่างว่า ตนเคยเห็นด้วย ซึ่งอยากให้ไล่เรียงมา ก็ไม่เคยซักค้าน เพียงแต่ถามถึงแหล่งที่มาเท่านั้นเอง ดังนั้นขอให้รัฐบาลช่วยตอบให้ตรงประเด็น

น.ส.ศิริกัญญา ยังตั้งข้อสังเกตว่า จะไม่ผิดกฎหมายได้อย่างไร ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดใหญ่บอกหรือไม่ว่า ไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องง่ายๆ หากเปิดเผยรายงานการประชุมในชั้นอนุกรรมการและกรรมการชุดใหญ่มา ว่าถูกต้องตามกฎหมายอย่างไรก็จบสิ้นแล้ว

...

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า การจะออก พ.ร.บ.กู้เงินได้ ต้องถูกตรวจสอบว่า ถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่ ซึ่งกฎหมายเกี่ยวกับหนี้สาธารณะมีอีกหลายฉบับที่ต้องพิจารณาด้วย ดังนั้นเราคาดหวังว่าวันที่รัฐบาลประกาศแถลงต่อประชาชนว่าจะออกร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 500,000 ล้าน ได้ปรึกษาคณะกรรมการกฤษฎีกามาเรียบร้อยแล้ว และทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าจะใช้วิธีการนี้ โดยที่ไม่ผิดกฎหมายใดๆ หรือไม่

ถ้าไม่ผิดกฎหมายก็ไม่ได้มีช่องให้นักร้องไปร้องอะไรได้ และไม่มีโอกาสถูกตีตกในภายหลัง แต่ถ้าไม่ผ่านกระบวนการนั้นเลย แล้วอยู่ดีๆ ก็พูดออกมาว่าไม่แน่ใจว่ามีมติในที่ประชุมคณะกรรมการใหญ่ด้วยหรือไม่ เพราะไม่มีการเปิดเผยและพูดออกมาแบบนี้เหมือนเดิม คือพูดแล้วก็ต้องมากลับคำพูดอีกรอบ ก็คิดว่าเสียความเชื่อมั่นของประชาชน จากเดิมประชาชนที่เฝ้ารอการช่วยเหลือ วันหลังก็จะไม่เชื่อแล้ว

ส่วนหากกฎหมายนี้ผ่านสภาไปได้ พรรคก้าวไกลจะทำอย่างไรนั้น น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ในส่วนของก้าวไกลก็คงต้องยอมรับความจริง ถ้าสุดท้ายร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านสภาไปได้ทั้ง 3 วาระ และได้ดำเนินโครงการนี้จริง ขั้นตอนต่อไปก็เป็นปัญหาในเรื่องของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 การใช้คืนหนี้สูงมาก เงินต้นเดิมเงินต้นใหม่เท่ากับภาษีที่รัฐบาลเก็บมาได้ 20% ก็จะกลายมาเป็นเงินต้องใช้หนี้ ทำให้งบของปี 2568 ก็คงจะจัดอย่างยากลำบาก เพราะรายได้ใหม่จากภาษีที่ได้จากงบปี 2567 และ 2568 ที่ต่อเนื่องกัน ซึ่งในงบประมาณปี 2568 ก็เห็นว่าจะต้องเสียเงินปีแรกแสนกว่าล้านบาท บวกดอกเบี้ยอีกหมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งทำให้การใช้เงินสูงมาก

ส่วนกรณีที่รัฐบาลให้เหตุผลว่า มีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศนั้น น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.วินัยทางการคลังสามารถทำได้ เพื่อแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วนและแก้วิกฤติของประเทศ ซึ่งต้องตีความเพราะที่ผ่านมายังไม่เคยถกเถียงกันว่า ความจำเป็นเร่งด่วนเป็นอย่างไร และที่ผ่านมาเห็นว่านายกรัฐมนตรีแถลงจีดีพีย้อนหลัง 10 ปี ซึ่งต้องแก้ไขปัญหาระยะยาว ไม่สามารถแก้ในระยะสั้นได้ ก็ต้องฟังว่ารัฐบาลมีภาระเร่งด่วนอย่างไร แต่ทุกวันนี้ยังไม่มีเสียงตอบรับใดๆ

ทั้งนี้ การออก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท หากเทียบกับ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ศาลรัฐธรรมนูญตีตกนั้น น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ถ้าไม่ผิดกฎหมาย แต่การกู้เงินในระดับนี้มีปัญหาแน่ๆ แม้ว่าหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ยังไม่ถึงขั้นที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐบาลชุดที่แล้วเคยขยายเพดานไว้ แต่ที่จะไม่รอดแน่ๆ คือภาระดอกเบี้ยต่องบประมาณ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะให้ความสำคัญเป็นพิเศษ แม้จะไม่อยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง ต้องคงไว้ไม่เกิน 10% เพราะสถาบันจัดอันดับเครดิตเรตติ้งที่จะจัดอันดับ เป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีจะต้องชี้แจง และย้ำว่างบประมาณปีแรกจะต้องจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ย ซึ่งเกิน 10% ของงบประมาณแผ่นดิน และถ้าสุดท้าย พ.ร.บ.นี้ผ่านสภาและบังคับใช้ได้จริง และดิจิทัลวอลเล็ตเกิดขึ้นจริง

น.ส.ศิริกัญญา บอกอีกว่า ที่รัฐบาลพยายามบอกว่าประเทศกำลังมีวิกฤตินั้น เห็นว่าเป็นวิกฤติที่เกิดขึ้นในระยะยาว เป็นปัญหาเรื้อรัง ซึ่งไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในการแก้ไขปัญหาด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นได้เลย กรณีนี้ไม่ใช่การช็อกขึ้นมา ในเศรษฐกิจในระยะสั้นอย่างเช่นโควิด แต่นโยบายนี้ถูกคิดขึ้นมาตั้งแต่ มี.ค.-เม.ย. ปีนี้จะถูกนำไปใช้จริงปีหน้า สรุปแล้ววิกฤติเกิดขึ้นตอนไหนกันแน่ แล้วเร่งด่วนถึงขั้นที่เรากว่าจะได้อีก 1 ปี เร่งด่วนหรือไม่ ดังนั้นการเลือกใช้โดยการออกร่าง พ.ร.บ.ยิ่งต้องใช้เวลาในสภา จึงถามว่า ความจำเป็นเร่งด่วนอยู่ตรงไหน และขออย่าปล่อยให้รัฐบาลบิดเบือน

ส่วนที่มองว่าจีดีพีไม่โตตามเป้านั้น น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ก็ต้องดูว่าจีดีพีโตได้ตามศักยภาพที่ไปได้หรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่าแม้จีดีพีเราโตช้า แต่เราไม่สามารถกระตุ้นได้ด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น เลยควรต้องระบุในทางพื้นที่ หรือไม่ว่าพื้นที่ไหนควรจะต้องใช้วิธีการกระตุ้นเป็นกรณีพิเศษ อย่างฮ่องกง ปี 2565 เศรษฐกิจของฮ่องกง ปี 65 ยังโตติดลบอยู่ จึงต้องมีการแจกเงิน ซึ่งก็เหมือนของเราตอนโควิดและแจกเงินเยียวยาประชาชน แต่วันนี้เศรษฐกิจโตขึ้น ยังไม่ใช่เวลาของการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแน่นอน 

เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรีต้องการเอาชนะหรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องของการเอาชนะ แต่น่าจะเป็นการรักษาคำพูด ซึ่งน่าจะเป็นจุดอ่อนจุดหนึ่งเหมือนกัน หลังจากที่ไม่ได้รักษาคำพูดมาแล้วครั้งหนึ่ง ตอนร่วมรัฐบาลและตั้งรัฐบาลมา จึงจำเป็นต้องฟื้นความเชื่อมั่นว่า ต้องทำตามที่พูดที่ได้หาเสียงไว้ได้ ซึ่งเป็นบททดสอบที่สำคัญ ก็อาจจะแพ้ไม่ได้เช่นเดียวกัน จึงเป็นปัญหาหนักใจ.