“พิชิต” ยัน พ.ร.บ.เงินกู้ ทำได้ แจงปมคนวิจารณ์โครงการดิจิทัลวอลเล็ตไม่ตรงปกกับที่ชี้แจง กกต. มั่นใจ “เศรษฐา” นำพาประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้ ชี้ เห็นต่างอย่างสร้างสรรค์ได้ แต่ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของชาติ
วันที่ 11 พฤศจิกายน 2566 นายพิชิต ชื่นบาน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีผู้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า การออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินกู้ ไม่สามารถทำได้ เพราะเสี่ยงขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 140 และขัด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ว่า พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 กำหนดหลักการเกี่ยวกับวินัยการเงินการคลัง เพื่อช่วยให้หน่วยงานของรัฐรักษาวินัยการเงินการคลัง และดำเนินนโยบายด้านการคลังตามกรอบที่กฎหมายกำหนด โดยเงินที่กู้กระทรวงการคลังจะเก็บไว้เพื่อจ่ายออกตามโครงการ ไม่ต้องนำส่งคลังเพื่อเข้าบัญชีเงินคงคลัง ทำให้รัฐบาลสามารถตรากฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงิน และจ่ายเงินแผ่นดินตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังได้
ทั้งนี้ รูปแบบของกฎหมายเฉพาะเพื่อกู้เงินตามมาตรา 53 สามารถกระทำได้ 2 รูปแบบ คือ พ.ร.บ. และพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพราะถ้อยคำใน พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง กำหนดเพียงว่า มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน และอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ การที่รัฐบาลเลือกรูปแบบ พ.ร.บ. เพราะมีเจตนาให้ผ่านการตรวจสอบของรัฐสภา ให้ร่วมพิจารณาทบทวนเหตุผลความจำเป็น วัตถุประสงค์ ระยะเวลา และแผนงาน หรือโครงการ และยังเปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาที่อาจมีความเห็นในประเด็นต่างๆ สามารถส่งเสนอความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตรวจสอบร่าง พ.ร.บ. ได้อีกทางหนึ่ง
“เป็นเครื่องยืนยันว่าการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตอยู่บนพื้นฐานโดยสุจริต และมิได้ใช้ดุลพินิจบิดเบือนหลักการของรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด และไม่มีเจตนาซ่อนเร้นหรือแอบแฝงเพื่อหาทางลงตามที่มีหลายฝ่ายวิจารณ์ รัฐบาลต้องการเดินหน้าโครงการดังกล่าวเพราะมีประชาชนรออยู่จำนวนมาก”
...
นายพิชิต กล่าวต่อไปว่า กรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าโครงการไม่ตรงปก เป็นการกู้มาแจก 100% ไม่เหมือนตอนยื่นนโยบายต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นั้น พรรคเพื่อไทยมีการชี้แจง กกต. ได้ระบุเงื่อนไขอย่างชัดเจนว่า ที่มาของวงเงินที่จะใช้ในการดำเนินการสามารถปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมตามสถานการณ์ด้านการคลังของประเทศ เมื่อวานนี้ (10 พฤศจิกายน 2566) รัฐบาลได้หาข้อสรุปจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนแล้ว เห็นว่าในการกระตุ้น และสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ต้องมีการเติมเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจมูลค่า 600,000 ล้านบาท โดยจะต้องออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน จำนวน 500,000 ล้านบาท และมาจากเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จำนวน 100,000 ล้านบาท จึงเป็นการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมตามสถานการณ์ด้านการคลังของประเทศตามที่ได้แจ้งต่อ กกต.
แม้อาจมีหลายฝ่ายกังวลเกี่ยวกับการออก พ.ร.บ.เงินกู้ ว่าอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่การตีความกฎหมายก็เหมือนสุภาษิตที่ว่า “สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม คนหนึ่งตาแหลมคม มองเห็นดาวอยู่พราวพราย” และตนมั่นใจในตัว นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะสามารถนำพาประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้ เสียงที่เห็นต่างจึงเป็นเรื่องสองคนย่อมเห็นต่างกันได้อย่างสร้างสรรค์ แต่ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติ
ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ยังกล่าวไปถึงข่าวยายอายุ 71 ปี กระโดดลงไปในน้ำเพื่อตามเก็บธนบัตร 1,000 บาทเพียงใบสุดท้ายโดยไม่ห่วงชีวิต จึงอยากสะท้อนให้เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศ หากเรามองปัญหามาจากหอคอยงาช้าง ย่อมไม่อาจเห็นปัญหาที่อยู่จุดข้างล่างได้ ท้ายสุดหากเรื่องนี้ไปอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นนี้เอง.