“รัดเกล้า” เผย รัฐบาลจ่อผลักดันกรมอุตสาหกรรมฮาลาล ยกระดับฮาลาลไทยสู่สากล รองรับการท่องเที่ยว ส่งออกไปตลาดที่มีศักยภาพ ชี้ ฮาลาลคือความศรัทธาและวิถีชีวิต เราจะไปให้ไกลกว่าแค่เรื่องอาหาร
วันที่ 11 พฤศจิกายน 2566 นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ว่า เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาล โดย น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้แนวทางไว้ว่า อุตสาหกรรมฮาลาลมีมากกว่าเรื่องอาหาร แต่รวมถึงการผลิตหรือการบริการอื่น ที่ไม่ขัดต่อบัญญัติของศาสนาอิสลาม ได้แก่ เครื่องสำอาง เครื่องใช้ประจำวัน เครื่องนุ่งห่ม สาธารณูปโภค
ทั้งนี้ การผลักดันให้ไทยได้เป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาลในภูมิภาค หรือฮาลาลฮับ (Halal Hub) และเป็นครัวโลกนั้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้น เพราะฮาลาลเป็นยิ่งกว่าอาหาร แต่ฮาลาลคือความศรัทธาและวิถีชีวิต เราจะไปให้ไกลกว่าแค่เรื่องอาหาร โดยในก้าวแรก สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เตรียมมาตรการและแผนงาน รวมทั้งแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลสำหรับรองรับการท่องเที่ยวและผลักดันการส่งออกไปยังตลาดที่มีศักยภาพ เช่น ตะวันออกกลาง อาเซียน และเอเชียใต้ นอกจากนี้จะมีการผลักดันก่อตั้งกรมอุตสาหกรรมฮาลาล ขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อยกระดับฮาลาลไทยสู่สากลอย่างเต็มที่
สำหรับตลาดอาหารฮาลาล เป็นตลาดที่มีศักยภาพที่มีมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 13.5 ตามสัดส่วนประชากรมุสลิมโลกที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันประเทศไทยส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลในปี 2566 เพียงครึ่งปีแรก (มกราคม-กรกฎาคม 2566) สามารถส่งออกมีมูลค่าถึง 136,503 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาหารฮาลาลโดยธรรมชาติ เช่น ข้าว ธัญพืช น้ำตาลทราย ฯลฯ ขณะกลุ่มอาหารที่ต้องผ่านการรับรอง เช่น เนื้อสัตว์-อาหารทะเล อาหารแปรรูป ฯลฯ มีอัตราการเติบโตลดลงร้อยละ 7.5 และ 10.3 ตามลำดับ ซึ่งไทยมีผู้ผลิตอาหารฮาลาลกว่า 15,043 ราย มีร้านอาหารฮาลาลมากกว่า 3,500 ร้าน ดังนั้น หากจะผลักดันให้อาหารฮาลาลของไทยขยายตลาดมากขึ้นและเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก
...
รองโฆษกรัฐบาล ระบุอีกว่า การผลักดันครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีมากสำหรับคนไทย โดยเฉพาะพี่น้องมุสลิม ซึ่งการที่ไทยมีพรมแดนติดกับประเทศมาเลเซีย เป็นจุดแข็งให้สามารถเป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาลในภูมิภาค เป็นฐานการผลิตที่ดีสำหรับทั้งชาวมุสลิมในประเทศเองและเพื่อส่งออกรองรับตลาดโลก สอดรับกับการเป็นครัวของโลกอย่างชัดเจน และที่น่าตื่นเต้นที่สุดคือนี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น.