“ไหม ศิริกัญญา” ชี้ “เศรษฐา” แถลงดิจิทัลวอลเล็ต ไม่ได้คิดอย่างถี่ถ้วน อาจไม่มีใครสักคนได้เงิน 10,000 บาท รู้ทั้งรู้ พ.ร.บ.กู้เงิน ขัดรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ภายหลัง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดยมีเงื่อนไข บุคคลสัญชาติไทยที่อายุ 16 ปีขึ้นไป มีรายได้ไม่ถึง 70,000 บาทต่อเดือน หรือมีเงินฝากต่ำกว่า 500,000 บาท โดยให้สิทธิ์ใช้ครั้งแรกในระยะเวลา 6 เดือนหลังโครงการเริ่ม และขยายพื้นที่การใช้จ่ายครอบคลุมระดับอำเภอ โดยเริ่มใช้จ่ายช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 นั้น

ทางด้าน น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้แสดงความคิดเห็นผ่าน X (ทวิตเตอร์) ว่า สิ่งที่นายกรัฐมนตรีแถลงวันนี้ เป็นการยอมรับว่าไม่ได้คิดอย่างถี่ถ้วน ทั้งเรื่องว่าจะเอาแหล่งเงินมาจากไหน สุดท้ายต้องกู้มาแจก และเทคโนโลยีจาก Super Application ที่ย้อนกลับมาใช้แอปพลิเคชันเป๋าตัง

น.ส.ศิริกัญญา เผยต่อไปว่า ซ้ำร้าย เงินดิจิทัล 10,000 บาท อาจจะไม่มีใครได้เงินเลยสักคนเดียว เพราะทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่าร่างพระราชบัญญัติกู้เงิน 5 แสนล้านบาท ขัดต่อมาตรา 140 ของรัฐธรรมนูญ และมาตรา 53 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง แต่ก็ยังเลือกทางนี้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทยย่อมทราบดี เพราะเป็นกรณีเดียวกับที่ศาลรัฐธรรมนูญปัดตก พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท (รถไฟฟ้าความเร็วสูง) เมื่อปี 2556

พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า หรือนี่เป็นเพียงการสร้างภาพให้ความมั่นใจกับประชาชนว่ากำลังจะได้เงิน ทั้งๆ ที่รู้ดีว่าไปไม่รอดแน่ เป็นการสร้างกับดักเพื่อที่ในอนาคต หากมีบรรดานักร้อง หรือผู้ตรวจการแผ่นดิน ไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคก้าวไกลไม่ไปร้องแน่นอน ก็จะสามารถอ้างได้ว่าเป็นความผิดของศาลรัฐธรรมนูญ ในการปัดตกร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน ไม่ใช่ความผิดของรัฐบาล

...

“ดิฉันขอคัดค้านสุดตัวไม่ให้เรื่องนี้มีศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากเป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร ก็ให้มันจบที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นคนตีความ และรัฐบาลรับผิดชอบในทางการเมืองด้วยตัวเอง”

น.ส.ศิริกัญญา ยังระบุด้วยว่า แต่ถ้าถึงที่สุดเกิดอภินิหาร และร่าง พ.ร.บ.นี้ผ่านสภาฯ ไปได้ การผ่อนชำระคืนใน 4 ปี บวกดอกเบี้ยในแต่ละปี จะสร้างภาระทางการคลังขึ้นไปเกือบ 20% ของรายได้รัฐบาล เท่ากับเก็บภาษีมาได้ก็เอาไว้จ่ายคืนหนี้ ดอกเบี้ยต่องบประมาณจะทะลุ 10% ในปีงบประมาณ 2568 ซึ่งเป็นสิ่งที่บรรดาสถาบันจัดเครดิตเรตติ้งเฝ้าจับตาเพื่อรอหั่นเรตติ้งอยู่แน่นอน

จากนั้นผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลให้เหตุผลถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการทำนโยบายนี้ เพราะต้องการกอบกู้หรือกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ น.ส.ศิริกัญญา ตอบว่า จะกล่าวเช่นนั้นก็ได้ แต่ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา ไม่เคยมีการพูดถึงความจำเป็นเร่งด่วน ครั้งแรกรัฐบาลพูดว่าต้องดำเนินโครงการนี้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ตอนนี้เลื่อนเป็นเดือนพฤษภาคม 2567 เพราะต้องรองบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ด้วยไทม์ไลน์แบบนี้แสดงให้เห็นว่าไม่ได้เป็นความจำเป็นเร่งด่วน เพราะวิกฤติเกิดวันนี้ โอกาสที่จะแก้ไขต้องเกิดขึ้นภายใน 1-2 เดือนข้างหน้า ไม่ใช่ 6 หรือ 8 เดือนข้างหน้า

อีกประการคือการออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน จำเป็นต้องผ่านสภาฯ 3 วาระ มีการตั้งกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณา ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะผ่านในเวลาอันรวดเร็ว แม้รัฐบาลจะคุมเสียงข้างมากในสภาฯ ด้วยเหตุผล 2 ข้อนี้ เห็นแล้วว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ความจำเป็นเร่งด่วนที่แท้จริงหรือฟังขึ้น.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง