“นายกฯ เศรษฐา” เผยผลงานและความคืบหน้าหลังบริหารราชการ 60 วัน ยัน พยายามทำเต็มที่ทุกเรื่องแบบลืมเหนื่อย โดยเฉพาะเรื่องปากท้องของพี่น้องประชาชน ชี้ เศรษฐกิจอยู่ในภาวะไม่ค่อยดี การกระตุ้นเป็นเรื่องสำคัญ ลั่น ไม่เคยหาเสียงพูดยุบ กอ.รมน.
เมื่อเวลา 19.00 น. วันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ในรายการพิเศษ “Chance of Possibility จากนโยบายสู่การลงมือทำจริง 60 วัน ภายใต้รัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน” ถ่ายทอดผ่านช่อง NBT หลังจากการแถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภา และเข้ามาทำหน้าที่บริหารราชการในฐานะรัฐบาล โดยมีผู้ดำเนินรายการคือ นายพงศ์เกษม สัตยาประเสริฐ ในช่วงครึ่งหลังได้กล่าวถึงรถไฟความเร็วสูงภายใต้รัฐบาล เพราะการก่อสร้างจากกรุงเทพฯ ไปนครราชสีมา ก็ยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง อนาคตก็อาจจะขยายต่อเนื่องไปเพื่อจะไปเชื่อมต่อที่ประเทศจีน แผนทุกอย่างยังเหมือนเดิมใช่หรือไม่ ว่า เรื่องของการคมนาคมเชื่อมต่อไปทั่วประเทศ ถือเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้วก็ได้เดินทางไปประชุมที่ประเทศจีน ในเมืองปักกิ่ง เป็นเรื่องของการเชื่อมโยงโลจิสติกส์ทั้งภูมิภาค ซึ่งดำริมาโดย ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง 10 ปีแล้ว วันนี้เราก็ไปประชุมครั้งที่ 3 ทุกประเทศที่อยู่ในแผนงานยืนยันตามเจตนารมณ์ว่าเราจะเดินต่อ ถ้าติดตรงไหนก็มาพูดคุยกัน
ทั้งนี้ เรื่องรถไฟความเร็วสูงเป็นเรื่องสำคัญ อย่างเช่นที่เรามีการก่อสร้างจากกรุงเทพฯ ไปถึงโคราช มี 14 สัญญา มี 14 ผู้รับเหมา จะต่อจากโคราชไปถึงขอนแก่น จากขอนแก่นไปถึงหนองคาย จากหนองคายข้ามไปลาว แล้วก็ลาวไปถึงประเทศจีน เรื่องโลจิสติกส์เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งไทยมีศักยภาพสูงทางด้านเกษตรกรรมพืชผลต่างๆ จะมีประโยชน์มากถ้าเรามีรถไฟความเร็วสูง เพราะทราบดีว่าผลไม้ต่างๆ ต้องใช้เวลาในการเก็บเกี่ยวแล้วก็ส่งออกไป ถ้าขนส่งนานเกินไปเรื่องของคุณภาพก็จะถูกด้อยลง เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ยืนยันว่าเราจะดำเนินการต่อ แต่ขั้นแรกระหว่างที่จะมีการทำเรื่องรถไฟความเร็วสูง บางอย่างต้องมีทำรางคู่ก่อน บางจุดต่างๆ ต้องมีจุดยุทธศาสตร์สำคัญ อย่างเช่น สะพานข้ามจากหนองคายไปลาวก็เป็นเรื่องสำคัญ ต้องมีการสร้างอีกสะพานหนึ่งซึ่งก็ต้องมีการตกลงกัน ที่ตนที่เดินทางไปที่ สปป.ลาว เมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็มีการพูดคุยเรื่องนี้ มีการสร้างสะพานเชื่อมต่อไปได้
...
โลจิสติกส์สำคัญ ต้องทำควบคู่รถไฟความเร็วสูง
นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำว่าโลจิสติกส์เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เพราะพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่เรารู้กันอยู่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทุเรียนเป็นพืชที่ทางผลไม้ที่คนจีนชอบมาก การบริโภคทุเรียนในจีนเฉลี่ย 7 กิโลกรัมต่อคน ที่ไทย 5 กิโลกรัมต่อคน ที่มาเลเซีย 11 กิโลกรัมต่อคน เอาแค่ประชาชนจีนสามารถเข้าถึงทุเรียนได้ แล้วก็รับประทานเท่ากับประชาชนคนไทยได้คือ 5 กิโลกรัมต่อคนเนี่ย จะขึ้นไปประมาณ 7 เท่า ปัจจุบันนี้ส่งออกประมาณ 2 แสนกว่าล้านบาท 7 เท่าก็เป็นล้านล้านบาท เพราะฉะนั้นต้องเน้นเรื่องการขนส่งซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ตรงนี้ก็เป็นจุดหนึ่งที่เราต้องพยายามแก้ไขให้ได้
ที่เหนือกว่านั้น ถ้าเราสร้างรถไฟความเร็วสูง แล้วรถไฟความเร็วสูงมาแล้ว เรื่องของ Border Control (การบริหารจัดการชายแดน) ก็ต้องทำให้ทันสมัย เรื่องของ Single Windows ที่ของที่จะส่งผ่านจากไทยไปลาว การอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการเป็นเรื่องสำคัญ ปัจจุบันต้องมีการผ่านหลายโต๊ะ ทั้งศุลกากร เกษตรกร ตม. กว่าจะมีการผ่านเรื่องงานเอกสารไปได้ใช้เวลานาน ถ้าเกิดใช้เวลานานเกินไปผลไม้ก็อาจจะเสียได้ ดังนั้น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต้องควบคู่ไปกับการทำงานเพื่อที่จะให้ Easy to do business (ง่ายต่อการทำธุรกิจ) ฉะนั้น รัฐบาลนี้ก็ต้องทำควบคู่กันไป
“เมื่ออาทิตย์ที่แล้วผมไปที่หนองคายมา ผมก็ไปสั่งการว่าผมจะลองใช้จังหวัดหนองคายด่านนี้ให้เป็นด่านในการทดลองที่จะทำให้ Single Windows, Single From ที่จะเกิดขึ้นได้ ทำให้เอื้อประโยชน์และเวลาให้กับผู้ประกอบการในการที่จะขนถ่ายสินค้าจากเราข้ามไปฝั่งนั้นได้ ถ้าเกิดว่าการทำงานตรงนี้ยังไม่รวดเร็วเนี่ย ต้องมีการผ่านหลายๆ โต๊ะนะครับ ถ้าเกิดเกินเวลาไปแล้วเนี่ย บางทีรถไฟต้องวิ่งไปถึงฝั่งนู้น บางทีผลไม้ไปถึงตอนกลางคืน เขาจะไม่รับแล้ว ก็ต้องมีการเก็บไว้ในห้องแช่แข็ง ห้องเย็นก็เป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ประกอบการเอง กำไรที่จะได้ลดน้อยลงไป รายได้ที่จะได้ก็ลดน้อยลงไป ที่จะไปจ่ายเกษตรกรได้ก็ลดน้อยลงไป คือมันเป็นผลกระทบที่มันตกไปในเชิงลึกหมดเลย”
เพราะฉะนั้น การแก้ไขปัญหาทางด้านทางด้านโลจิสติกส์ไม่ใช่การทำงานภาคส่วนเดียว ถ้าเกิดแก้ไขรถไฟความเร็วสูงแล้วติดตรงด่านหนองคาย ความเร็วสูงก็ไม่มีประโยชน์ เพราะเซฟเวลาได้หลายชั่วโมง แต่ติดตรงวินโดว์ในการที่จะต้องโอนถ่ายสินค้าออกไป มันมีการทำงานในแง่ของเชิงลึกมากมาย ซึ่งรัฐบาลตระหนักดีว่าเรื่องของการขยายเส้นทางคมนาคมทั้งหลายถือว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนแล้วต้องทำโดยเร็ว
ใช้โอกาสหารือต่างประเทศชวนลงทุนในไทย
ต่อมา นายกรัฐมนตรีเล่าถึงการเดินทางไปสหรัฐอเมริกา อยากจะใช้คำว่าไป UNGA ไปสหประชาชาติ ก็ถือเป็นโอกาสดี เพราะเพิ่งรับตำแหน่ง และถือโอกาสไปเจอผู้นำทั้งหลาย ซึ่งในปัจจุบันเรื่องของภูมิศาสตร์เองก็มีความร้อนแรงอยู่เยอะมาก มีคู่กรณี มีการเห็นต่างกันในแง่ของการค้า จีน-สหรัฐฯ ก็มีขัดแย้งเรื่องการค้า, ยูเครน-รัสเซีย สหประชาชาติเองก็ตระหนักถึงสิ่งที่เกิดขึ้น การที่เขาจัดประชุมทุกๆ ปีเนี่ย อาทิตย์ที่ 3 ของเดือนกันยายน ก็ต้องหาสิ่งที่นำมาพูดคุยกัน ปีนี้ธีมใหญ่ก็คือเรื่องของพลังงานสะอาด SDG อันนี้เป็นเรื่องที่ทุกคนเห็นตรงกันหมดว่าเป็นเรื่องที่ต้องบริหารจัดการให้ดี เพราะเรื่องอนาคตของลูกหลานเราก็ขึ้นอยู่กับตรงนี้ใช่ไหม ทุกคนก็เต็มใจที่ไปแล้วก็ไปพูดกัน กับประเทศไทยเราก็ได้ไปพูดในหลายๆ เวที ไม่ว่าจะเป็นการออกหุ้นกู้สีเขียว ซึ่งจะมีการ Raise Fund (ระดมทุน) เกิดขึ้น เป็นการแสดงเจตจำนงให้ชาวโลกรู้ว่าไทยเป็นห่วงเรื่องนี้ เราใส่ใจเรื่องนี้ มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการที่จะทำให้เป็น Net Zero Carbon ให้ได้ เป็นเรื่องที่สำคัญซึ่งเราส่งผลต่อในเรื่องของฐานอุตสาหกรรมการผลิต
ในช่วงที่พบปะกับผู้นำต่างประเทศ ก็ถือโอกาสพบปะกับบริษัทใหญ่ๆ ที่สนใจที่จะมาลงทุนในไทย ไม่ว่าจะเป็นโรงงานผลิต, Data Center เหล่านี้ต้องใช้ทรัพยากรทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทรัพยากรน้ำ ซึ่งตรงนี้เพียงพอ พลังงานสมัยก่อน 20 ปีที่แล้วผู้จัดมีพลังงานพอมีไฟฟ้าพอ ปัจจุบันนี้พูดถึงเรื่องพลังงานสะอาด ต้องมีให้เพียงพอด้วยใช่ไหม ซึ่งตรงนี้เนี่ยเราเองก็ต้องไปพูดคุยกับเขา ก็เป็นเรื่องน่ายินดี แต่ขอไม่เอ่ยนามแล้วกันว่าสัปดาห์หน้าที่จะไปที่ซานฟรานซิสโก ไปที่ APEC ก็จะมีการไปเจรจาต่อแล้วก็จะมีการเซ็น MOU ด้วย จริงๆ แล้วก็คือไปค้าขายนั่นเอง
“ที่ผมพูดไป ที่บอกว่าเราก็เป็นเซลส์แมน เราก็ต้องไปบอกว่าประเทศไทยเปิดแล้ว ไม่มีเวลาไหนที่จะดีเท่าเวลานี้ที่จะมาลงทุนที่ประเทศไทย เรามีความพร้อม ไม่ว่าจะเป็นมาตรการสนับสนุนทางภาษีโดย BOI ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพลังงานสะอาด ที่เรามีเหนือสิ่งอื่นใด ค่าครองชีพของเราเมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านก็ถือว่าดีนะครับ แล้วก็มีสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตที่ดีด้วย ถ้าเกิดจะมีคนย้ายฐานผลิตเข้ามา เขาจะมีครอบครัวมาอยู่ เรื่องของการ Health Care Service ของเราก็ระดับ World Class นะครับ โรงเรียน International ของเราก็มีให้ลูกหลานเขาอยู่อย่างเพียงพอ เพราะฉะนั้นเรามีความครบในการที่จะเสนอตัวว่า ประเทศไทยเนี่ยจะเป็น Hub ของการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างมากมาย นี่ก็คือเป็นที่มาที่ไปของที่เราเดินทางไปต่างประเทศ”
ขณะเดียวกัน ล้อไปกับเรื่องที่เดินทางไปเยี่ยมประเทศในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นกัมพูชา บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกงด้วย ก็เป็นการไปพบปะแนะนำตัวเองกับท่านผู้นำทั้งหลาย แล้วก็ไปพูดคุยถึงเรื่องโอกาสในการทำธุรกิจ รับฟังปัญหาที่เรามีกับเขา ที่เขาอยากให้เราช่วยเหลือ มีก็มีไปพูดคุยกันเหล่านี้ไปหลายๆ ประเทศมา ทางด้านความต้องการวัวของจีนและซาอุดีอาระเบียที่มีความต้องการวัวสูงมาก ก็ถือเป็นการขยายโอกาสให้กับประเทศ เป็นส่วนหนึ่งของที่เราประกาศไปว่าเราจะเพิ่มรายได้ 3 เท่าให้กับพี่น้องเกษตรกรภายในเวลา 4 ปี เพราะทั้งจีนและซาอุดีอาระเบียมีความต้องการวัวอย่างมาก ก็ล้อไปกับนโยบายของรัฐบาลที่จะสนับสนุนให้มีการเลี้ยงวัวเกิดขึ้น แต่ว่าต้องไปลงรายละเอียดอีกที พอไปซาอุดีอาระเบียมาก็ทราบว่าจริงๆ แล้วเขาไม่ได้อยากได้วัวที่เราส่งออกวัวออกมาเป็นตัวๆ เขาอยากได้วัวที่ชำแหละแล้ว ซึ่งวัวที่ชำแหละแล้วจะเพิ่มรายได้ให้กับคนที่เลี้ยงวัว 40% จากการที่ขายวัวเป็นตัวออกไป ตรงนี้เราก็ต้องมานั่งดูว่าประเทศเราเองมีความสามารถในการที่จะมีโรงเชือดได้มากน้อยขนาดไหน อย่างไร
นายเศรษฐา กล่าวต่อไป ทางเราเองก็ไปศึกษามาว่าโรงเชือดที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยอยู่ที่ชุมพร เชือดได้วันละ 200 ตัว บางคนบอกว่า 200 ตัวนี่ก็เยอะแล้ว ซึ่งที่ไปซาอุดีอาระเบีย ก็ไปคุยกับองค์กรทางด้านรัฐวิสาหกิจซึ่งลงทุนไปทั่วโลกที่เกี่ยวกับทางด้านความมั่นคงทางอาหาร ทั้งเรื่องปศุสัตว์ เกษตรกรรม เขาไปลงทุนในประเทศบราซิลกับองค์กรที่เลี้ยงวัว แล้วเขาส่งออกวัวมาเพราะประเทศเขามีแต่ทะเลทราย แทนที่จะเลี้ยงวัวเอง ก็ไปลงทุนในบริษัทต่างๆ เพราะมีกำลังเงินที่สูงมาก เขาขายน้ำมันและมีรายได้ดี ที่บราซิลกำลังผลิตในการเชือดวัววันละ 45,000 ตัว ถ้าเราสนับสนุนให้คนเลี้ยงวัวที่ไทย 200 ตัวต่อวันที่ชุมพร เพียงพอไหม และการจะขนส่งวัวจากเชียงรายมาที่ชุมพรคุ้มค่าหรือไม่ อาจต้องสนับสนุนให้มีโรงเชือดไหม ต้องมีเทคโนโลยีไหมในการที่จะเชือดและแยกส่วนเพื่อให้ดี แล้วก็ต้องคำนึงถือเรื่องของศาสนาด้วยเหมือนกัน เพราะต้องมีฮาลาล การเชือดต้องให้ถูกต้อง ถ้าจะส่งไปขายกับเขาเพราะมีประชากรมุสลิมอยู่เยอะ เราก็ต้องคำนึงถึงจุดนี้ด้วยเหมือนกัน ตรงนี้ก็เป็นเกร็ดที่ไม่ใช่ว่าจะส่งออกอย่างเดียว ต้องมาลงรายละเอียดจริงว่าต้องทำอะไรบ้าง
เอาจริงปราบยาเสพติด แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ปัญหาอาชญากรรม
นโยบายการปราบปรามกวาดล้างยาเสพติด ปัญหาอาชญากรรม แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ในส่วนของรัฐบาลได้มีการวางมาตรการ แนวนโยบายอย่างไร นายกรัฐมนตรี ตอบว่ามี 3 เรื่องหลัก เรื่องแรก แก๊งคอลเซ็นเตอร์ถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะหลอกลวงประชาชน ก็ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทำงานร่วมกับตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อกวาดล้างให้เด็ดขาด เรื่องการปิดบัญชีม้าก็ต้องทำอย่างเข้มแข็ง ประสานงานไปที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ถ้าเกิดเป็น Account ที่ใหญ่ เพราะถือว่าเป็นคดีพิเศษ แล้วก็ประสานงานที่สํานักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อให้มีการยึดทรัพย์เกิดขึ้นโดยรวดเร็ว เป็นการตัดต้นตอ ยืนยันว่าให้ความสำคัญตลอด มีการประชุมสั่งการไป ทาง นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตระหนักดีถึงเรื่องนี้อยู่แล้ว แล้วระหว่างที่หาเสียงก็มีประชาชนร้องเรียนมาเยอะพอสมควร
เรื่องที่ 2 ปัญหาหนี้สิน ปัญหาหนี้ครัวเรือน ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หนี้ครัวเรือนขึ้นต่อ GDP ขึ้นจาก 76 มาเป็น 91 ถือว่าเป็น Top 20 ของโลก ถือว่าสูงมาก เราต้องมีการลดตรงนี้ลงไปให้ได้ ด้วยการลดหนี้กับเพิ่มรายได้ เราทำทั้ง 2 ทาง เรื่องการลดหนี้ ทางสถาบันการเงินของไทยถูกกำกับโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่แล้ว ก็มีการช่วยกันบริหารจัดการ ทำงานใกล้ชิดกับผู้ว่าการ ธปท. กับทางธนาคารพาณิชย์ทั้งหลาย แต่ปัญหาใหญ่กว่านั้นคือหนี้นอกระบบ ทุกครั้งที่ออกไปหาเสียงเราจะได้ฟีดแบ็กมาตลอดเวลาว่าเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก เป็นเรื่องที่กู้มาก็ใช้หนี้ไม่หมด ดอกเบี้ยก็ใช้ไม่หมด ซึ่งดอกเบี้ยทางการมีมาตรฐานกำหนดไว้ชัดเจน แต่หนี้นอกระบบโหดมาก ร้อยละ 10 ต่อเดือน ปีหนึ่งก็เกินเงินต้นไปแล้ว โดยประกาศไปเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา จะใช้หน่วยงานความมั่นคงเขามาช่วยเหลือกัน นายอำเภอ ผู้กำกับ เจ้าหน้าที่กระทรวงการคลัง เรียกเจ้าหนี้กับเจ้าหนี้มา แล้วก็มาคุยกัน
เรื่องที่ 3 ปัญหายาเสพติด ถือว่าเป็นปัญหาวาระแห่งชาติ ตอนหาเสียงเราก็บอกว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างบูรณาการ นายกรัฐมนตรต้องนั่งหัวโต๊ะในการบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการยึดทรัพย์ ซึ่งขั้นตอนนี้ยังช้าอยู่ คนที่ค้ายาเสพติดไม่ได้กลัวติดคุก กลัวเรื่องการถูกยึดทรัพย์ ส่วนเรื่องปัญหาทางด้านสังคม ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ตามที เรามีการตั้งคณะกรรมการมาแล้ว นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก็เขียนไทม์ไลน์ที่ชัดเจน แล้วก็ได้บอกกับพี่น้องสื่อมวลชนไป ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่คนอาจจะพูดถึงน้อยก็คือเรื่องสมรสเท่าเทียม สัปดาห์ที่แล้วก็มีการสั่งการไปอีก 2 สัปดาห์ต้องทำเรื่องของการสอบถามความเห็นของทุกภาคส่วน แล้วเอาเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ได้ น่าจะเป็นจดหมายฉบับแรกที่ยื่นเข้าไปที่เปิดสภาครั้งต่อไป คือต้นเดือนธันวาคม เรื่องสมรสเท่าเทียมก็เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งเหมือนกัน สุราชุมชนก็ต้องทำเ ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกๆ ฝ่ายด้วย
ไม่เคยบอกต้องยุบ กอ.รมน.
ขณะที่เรื่องการเกณฑ์ทหารที่ตั้งใจจะเปลี่ยนเป็นแบบสมัครใจ และยังเป็นนโยบายที่แถลงต่อที่ประชุมรัฐสภาด้วยนั้น นายเศรษฐา ตอบว่า “ใช่ครับ ตอนนี้ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมก็มีการพูดคุยกับผู้บัญชาการเหล่าทัพ เรื่องสรรพกำลังของทหารด้วยว่าต้องลดอย่างไร ซึ่งแน่นอนครับว่าเราต้องให้เยาวชนเรามีสิทธิเสรีภาพในการเลือกประกอบอาชีพ ถือว่าเป็นเรื่องนึงที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำความไม่สบายใจของสังคม” ก่อนจะพูดไปถึงประเด็นการจะยุบหรือไม่ยุบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ว่า “อาทิตย์ที่ผ่านมาที่มีการพูดถึง กอ.รมน. เรื่องของการยุบหรือไม่ยุบนะครับ ซึ่งผมเองต้องบอกตรงๆ ผมเองผมก็ตกใจนะ ที่บอกว่า เอ๊ะทำไมท่านไม่ยุบ ผมไปหาเสียงที่ไหนไปเอาเทปมาดูได้ ผมไม่เคยบอกต้องยุบ นโยบายที่แถลงก็ไม่เคยบอกเรื่องนี้”
จากนั้น นายกรัฐมนตรี เปิดเผยอีกว่า แต่ทุกๆ องค์กร ไม่ใช่ กอ.รมน.อย่างเดียว จะเป็น BOI หรือ EEC ก็ต้องมีการพัฒนา เปลี่ยนแปลงไปตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม สมัยก่อน กอ.รมน. ก็ดูแลเรื่องของความมั่นคง คอมมิวนิสต์ การก่อการร้ายทั้งหลาย วันนี้เรื่องสำคัญที่สุดคือเรื่องของปากท้องพี่น้องประชาชน ทางด้านผู้บัญชาการทหารบก และกองทัพเองก็ตระหนักดีถึงเรื่องนี้ จะมีการเปลี่ยนแนวทางในการที่จะใช้ กอ.รมน. ช่วยทำให้ชีวิตของพี่น้องประชาชนดีขึ้น โดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของพี่น้องประชาชน ไม่ให้ไปรุกรานจำกัดสิทธิของเขา ก็มีการให้นโยบายไปและมีการพูดคุยกัน ขอให้ดูกันไประยะกลางแล้วกัน ปัจจุบันนี้ก็มีที่ดินออกมาแล้ว 1 หมื่นกว่าไร่ แล้วก็จะทยอยออกมา สำหรับปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้น คอยดูแล้วกันว่า กอ.รมน. โดยที่ผมนั่งเป็นผู้อำนวยการ (ผอ.รมน.) จะมีการพัฒนาไปได้มากน้อยขนาดไหน อย่างไร
อุปสรรคใน 60 วันที่ผ่านมา
เมื่อถามถึงชีวิตเปลี่ยนแปลงและอุปสรรคที่เจอใน 60 วันที่ผ่านมา นายเศรษฐา ให้คำตอบในเรื่องนี้ว่า เราอาสาเข้ามาทำงาน ไม่มีสิทธิ์บอกว่าเหนื่อย ไม่มีสิทธิ์บอกอะไร แต่ว่าอุปสรรคสำคัญที่สุดก็คือเวลาไม่พอ เวลาไม่พอทุกอย่าง เวลาไม่พอในการทำงาน เวลาไม่พอในการนอน เพราะต้องมีงานพูดคุย ต้องมีงานทำอะไรหลายๆ อย่าง อยากให้ 1 วันมีมากกว่า 24 ชั่วโมง ก็เป็นเรื่องที่ต้องมีการบริหารจัดการ แต่ก็มีเรื่องเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทีมงานเองก็ตระหนักดีถึงความสำคัญที่จะต้องเร่งเข็นผลงานออกมา Quick Win ที่เราจะต้องเร่งเขียนผลงานออกมาคุย เรื่องการมีการพูดคุยกันมีการเชื่อมต่อกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพราะจริงๆ แล้ว 10 ปีที่ผ่านมาเนี่ย GDP ไทยโต 1.8% น้อยกว่าเพื่อนบ้าน
อีกทั้งยังมีหลายๆ เรื่องที่เราต้องทำ ขยายโอกาสก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เป็นเรื่องที่อยู่ในระยะกลางกับระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเจรจาเรื่องของสนธิสัญญาการค้าหรือ FTA เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องเปิดให้เรามีการค้าขายทั่วไปกับทุกๆ ประเทศ ซึ่งเราต้องเร่งในการเจรจาเรื่องเหล่านี้ ก็เป็นเรื่องดีที่ทุกคนตระหนักดีถึงความเร่งด่วนที่ต้องทำงาน และภาคส่วนที่สำคัญที่สุดภาคส่วนหนึ่งคือข้าราชการ ข้าราชการไทยเป็นข้าราชการที่มีคุณภาพแล้วก็รักประเทศชาติ ต้องการประเทศชาติพัฒนา เพราะฉะนั้นเรื่องของการที่เราต้องให้ความมั่นใจว่าการโยกย้ายข้าราชการ เรื่องของการให้การโปรโมทข้าราชการ เรื่องของการให้เกียรติ เรื่องการฟังความคิดเห็นของทุกๆ หน่วยงานเนี่ยเป็นเรื่องที่รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญอย่างมาก
ฝากถึงพี่น้องประชาชน
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรี ฝากถึงประชาชนว่า “เรื่องใหญ่ก็คือเรื่องของปากท้อง ซึ่งรัฐบาลนี้เราพยายามอย่างเต็มที่ที่จะทำทุกเรื่องนะครับ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของปากท้องนะครับ อะไรทำได้เราจะทำก่อน แล้วก็จะทำอย่างไม่หยุดยั้ง ลืมเหน็ดเหนื่อยนะครับ ผมว่าเหนือสิ่งอื่นใดเนี่ย ผมว่าทุกๆ ภาคส่วนต้องเข้าใจก่อนว่าปัจจุบันเศรษฐกิจอยู่ในภาวะที่ไม่ค่อยดี เพราะฉะนั้นการกระตุ้นเศรษฐกิจเนี่ยเป็นเรื่องสำคัญนะครับ เราเองเราคำนึงถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน แล้วก็ทุกๆ กระทรวง ทบวง กรม รวมถึงข้าราชการทั้งหลายเนี่ยได้พยายามทำงานกันอย่างเต็มที่ แล้วยังทำงานหนักต่อไปนะครับ ขอให้มีความอดทนแล้วก็รับฟังความคิดเห็นของทุกๆ ภาคส่วน รัฐบาลนี้ก็จะพยายามเขียนงานออกไปให้ได้โดยเร็วที่สุดเท่าที่สามารถทำได้นะครับ แล้วก็ขอบคุณที่มีโอกาสมาพูดคุยกับพี่น้องประชาชนวันนี้ แล้วก็อยากจะขอให้จัดรายการอย่างนี้เยอะขึ้นนะครับ แล้วก็อาจจะชวนท่านรัฐมนตรี หรือภาคส่วนอื่นๆ มาพูดคุยกันครับ”