ผู้ก่อตั้ง "ซูเปอร์โพล" แนะ แจกเงินดิจิทัลใช้เทคโนฯ ในบล็อกเชน ได้ประโยชน์หลายต่อ สกัดสวมสิทธิ์-ระบบล่ม พร้อมเร่งออก พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางไซเบอร์ ดูแลประชาชน 

วันที่ 9 พ.ย. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้ก่อตั้งสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) และศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ วอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา เปิดเผยผลการศึกษาเชิงวิพากษ์ เรื่อง “กระจายเงินดิจิทัลให้ปลอดภัย” เป็นผลสืบเนื่องจากผลการสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการกระจายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ไปสู่มือประชาชนที่พบว่า ทำให้เกิดความเชื่อมั่นสูงเกินกว่า 70 ขึ้นไปในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจครอบคลุมทั่วประเทศ แต่ความไม่ชัดเจนยังคงมีอยู่ในการใช้เทคโนโลยีกระจายเงินดิจิทัล ว่าจะเกิดความปลอดภัยหรือไม่อย่างไร

ก่อนอื่น ข้อควรพิจารณาเรื่องความปลอดภัยของประชาชนในการจะใช้เงินดิจิทัลมีอยู่ 2 ลักษณะของความเสี่ยงต่ออันตราย และประโยชน์การใช้เทคโนโลยีในเวลานี้คือ นอกระบบบล็อกเชนกับในระบบบล็อกเชน ที่ควรนำมาสู่การถกแถลงให้เห็นความชัดเจนในหมู่ประชาชนให้รับรู้และเข้าใจ เกิดความตระหนักในความไม่ปลอดภัยในช่วงเวลาที่ผ่านมา ที่ฝ่ายการเมืองกำลังจะเอานโยบายกระจายเงินดิจิทัลมาให้ประชาชน (โปรดพิจารณาแผนภาพประกอบ)

...

1. การใช้เทคโนโลยีนอกระบบบล็อกเชน เช่น เป๋าตัง หมอพร้อม คนละครึ่ง เป็นต้น โครงการล่อใจประชาชนเหล่านี้ นำประชาชนครึ่งค่อนประเทศเอาข้อมูลส่วนตัวที่เสี่ยงต่ออันตรายเข้าไปอยู่ในโลกไซเบอร์จนเสพติด ทั้งๆ ที่มีความเสี่ยงสูงมากในหลายเรื่องเช่น คอลเซ็นเตอร์ เงินในบัญชีหายหมดเกลี้ยง การสวมสิทธิ์ และระบบล่ม เป็นต้น และมีความโปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาลต่ำ ควบคุมยาก ทางออกคือพัฒนาต่อยอดที่มีอยู่

2. การใช้เทคโนโลยีในระบบบล็อกเชน เป็นระบบเทคโนโลยีในโลกไซเบอร์ที่มีความปลอดภัย ความโปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาล และความคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองสูงกว่า ดังปรากฏในแผนภาพแนบ

จากการพิจารณาแผนภาพดังกล่าวจะพบว่า การกระจายเงินดิจิทัลออกไปยังหมู่ประชาชนทั่วประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำนี้ ย่อมจะทำให้เกิดความสุขแก่ประชาชน แต่สุขแล้วต้องปลอดภัยจากประสบการณ์การใช้เทคโนโลยีด้วย อย่างไรก็ตาม หากไล่เรียงทีละประเด็นสำคัญจากการใช้เงินดิจิทัล ทั้งนอกระบบบล็อกเชนในอดีตและปัจจุบัน เช่น เป๋าตัง คนละครึ่ง หมอพร้อม เป็นต้น เปรียบเทียบกับการใช้เงินดิจิทัลในระบบบล็อกเชน จะเห็นได้ว่า

(1) การจะควบคุมให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนดตามข่าวว่า ให้มีการใช้จ่ายภายในพื้นที่ที่กำหนด การพิสูจน์สิทธิ์ ความปลอดภัย ความโปร่งใส การเกาะติดพฤติกรรม การใช้นำมาใช้ประโยชน์ออกนโยบายที่ชัดเจน ตอบโจทย์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และช่วยเหลือลดความทุกข์ของประชาชนในเรื่องปากท้องเชิงพื้นที่ (Local-Area Base, LAB) ได้น้อยถึงปานกลางด้วยเทคโนโลยีนอกระบบบล็อกเชน แต่จะทำให้ทุกอย่างที่กล่าวมาได้มากด้วยเทคโนโลยีในระบบบล็อกเชน

(2) มีข้อดีร่วมกันระหว่างการกระจายเงินดิจิทัลสู่มือประชาชนในระดับมากของการใช้แอปพลิเคชันทั้งนอกระบบบล็อกเชนและในระบบบล็อกเชน คือพิกัดสถานที่ที่ใช้และเวลา

(3) ที่น่าเป็นห่วงคือการสวมสิทธิ์และระบบล่ม จะเกิดขึ้นได้มากจากการใช้แอปพลิเคชันนอกระบบบล็อกเชน แต่จะเกิดขึ้นได้น้อยถึงปานกลาง ถ้ามีการใช้ในระบบบล็อกเชน

ที่น่าพิจารณาคือความคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ที่ขอชักชวนให้ร่วมกันคิดคือ ถ้ารัฐบาลแจกเงินดิจิทัลในระบบบล็อกเชน รัฐบาลสามารถนำไปต่อยอดในการพัฒนาประเทศในมิติของการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองได้อีกระดับหนึ่ง เช่น การเกาะติดการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนอย่างละเอียด ลงไปถึงระดับรากฐานสุดของประชาชนแต่ละคน แต่ละชุมชน ไล่ขึ้นมาถึงระดับประเทศโดยรวม อันจะนำไปสู่การออกแบบพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ มากกว่าที่ใช้ข้อมูลจากหลายแหล่งความคลาดเคลื่อนของข้อมูลในเวลานี้สูง พลาดเป้าไปอย่างมากที่ยังไม่มีการสะสางความจริงและความไม่จริงของข้อมูลกัน นอกจากนี้ การใช้เทคโนโลยีในระบบบล็อกเชนยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการเมืองในอนาคตได้ เช่น การแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ การแก้ไขปัญหาผลผลิตตกต่ำทางการเกษตร การแก้ไขปัญหาความยากจน การเลือกตั้ง การลงประชามติ และการติดตามการบริหารราชการแผ่นดินที่โปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาล

ที่น่าเป็นห่วงคือกลุ่มประชาชนชายขอบและผู้สูงอายุ ทั้งที่อยู่ตามแนวชายแดนและในจังหวัดใหญ่หลายจังหวัด ที่เป็นพื้นที่ชุมชนอับจนเทคโนโลยี รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 6 ล้านคนทั่วประเทศ ที่นับรายหัวแล้วคนละ 10,000 บาท ก็จะเป็นไม่ต่ำกว่าหกหมื่นล้านบาท ที่เงินก้อนนี้จะไปทางไหน จะจัดการอย่างไร ยังไม่ชัดเจนนัก ทางออกคือรัฐบาลรับโอนความเสี่ยงต่ออันตรายจากการใช้แอปพลิเคชันในโลกไซเบอร์ ไปอยู่ที่หน่วยงานของรัฐ สถาบันการเงินการธนาคาร ผู้ประกอบการภาคเอกชนที่มีความสามารถรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ได้สูงกว่าประชาชนทั่วไปตามสัดส่วน และใช้วิธีผสมผสานระหว่างการใช้เทคโนโลยีชั้นสูง กับการใช้บัตรประชาชนใบเดียว แต่มีรหัสประจำบัตรไปใช้จ่ายได้ ดังนั้น รัฐบาลยังไม่ต้องรีบ ขอให้ใจเย็นๆ ค่อยๆ สื่อสารกับประชาชน และใช้โอกาสนี้เสริมสร้างความตระหนักในความปลอดภัยทางไซเบอร์ ให้การศึกษาด้านนี้แก่ประชาชน เพราะประชาชนเกือบทั้งประเทศอย่างน้อยกว่าห้าสิบล้านคนอยู่ในอันตรายบนโลกออนไลน์ ทางออกคือในระยะยาวที่รัฐบาลควรพิจารณาดำเนินการคือ ออกกฎหมายเป็น พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางไซเบอร์ ดูแลความปลอดภัยของประชาชนได้ดีขึ้น

การใช้เทคโนโลยีในระบบบล็อกเชน หากจะให้อธิบายให้เห็นภาพชัดเจน เข้าใจแบบง่ายขึ้น ก็ขอให้นึกถึงภาพรถยนต์ที่วิ่งบนทางด่วนที่มีการบันทึกภาพความเคลื่อนไหวของรถยนต์ทุกคัน และเห็นทุกความเคลื่อนไหวของสรรพสิ่งและสิ่งแปลกปลอมบนทางด่วน ใครทำอะไร อะไรเกิดขึ้นบนทางด่วน รู้เห็นได้ทุกสรรพสิ่งในรายละเอียดบนกระดานข้อมูล (Dashboard) ทำให้รู้และนำไปออกแบบให้เกิดความปลอดภัย ความโปร่งใสสูง และการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้มาก อย่างไรก็ตาม ประชาชนไม่ได้ขับรถบนทางด่วนตลอดเวลาฉันใด ประชาชนก็ไม่ได้ทำธุรกรรมทุกอย่างในระบบบล็อกเชนฉันนั้น และแม้แต่การใช้เทคโนโลยีในบล็อกเชนเอง ก็ไม่ได้ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะไม่มีอะไรสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ในโลกของความเป็นจริง

กล่าวโดยสรุป รัฐบาลควรจะทำทุกอย่างให้ประชาชนมีความสุข และปลอดภัยสูงที่สุดเท่าที่รัฐบาลจะทำได้ เพื่อทำให้คะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยที่เสียไป เนื่องจากการตัดสินใจทางการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาลกลับคืนมา และยังสามารถรักษาฐานเดิมทำให้ประชาชนไม่รู้สึกว่าฉันเป็นคนจน จึงได้สิทธิ์จากการกระจายเงินดิจิทัล และคนมีรายได้สูงก็ไม่คิดว่ารัฐบาลเอาเงินภาษีของพวกเขาไปให้กลุ่มคนที่ไม่ค่อยจ่ายภาษีเพราะรัฐบาลตัดสินใจอย่างชาญฉลาด และคุ้มกับเงินภาษีในการต่อยอด เกิดความคุ้มค่าทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และความมั่นคงของชาติ ผ่านทางคน เทคโนโลยี และกระบวนการในการพัฒนาประเทศ และความอยู่ดีกินดีของราษฎร

ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้ก่อตั้งซูเปอร์โพลและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ วอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ สำนักวิจัยซูเปอร์โพล www.superpoll.co.th โทร. 095.471.4444.