เป็นที่น่าสังเกตว่าระยะหลังมานี้ คุณเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.คลัง ให้ความทุ่มเทเพื่อผลักดันโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) เต็มที่

ช่วงแรกๆหลายคนอาจมองว่าสิ่งที่คุณเศรษฐาและพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำรัฐบาล โปรโมตโครงการแลนด์บริดจ์ ก็เพื่อยื่นหมูยื่นแมวกับพรรคภูมิใจไทยให้ออกมาสนับสนุน นโยบายแจกเงิน 1 หมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต หลังที่ผ่านมาตัวนายกฯเศรษฐาและพรรคเพื่อไทยกลายเป็นตำบลกระสุนตก โดนกระหน่ำจากทั่วสารทิศ โดยไม่มีพรรคร่วมรัฐบาลพรรคไหนออกหน้ามายืนเคียงข้าง

ขณะที่โครงการแลนด์บริดจ์เป็นโครงการที่พรรคภูมิใจไทยพยายามผลักดันมาตั้งแต่ปลายสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อเนื่องมาจนเป็นชุดนโยบายหาเสียงของพรรคภูมิใจไทย สำหรับเจาะฐานเสียงในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งก็ได้ผลสามารถชิงเก้าอี้ สส.มาได้ในหลายเขต น่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนหรือสัญญาว่าจะทำให้กัน

แต่โครงการนี้มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2548 สมัยรัฐบาลพรรคไทย รักไทย ของอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ดังนั้น ดูท่าทางแล้วรัฐบาล คุณเศรษฐาน่าจะเอาจริง โดยใช้โครงการแลนด์บริดจ์เป็นจุดขายกระตุกภาพความเชื่อมั่นพวกนักลงทุนต่างชาติต่อประเทศไทย หลังที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 16 ต.ค. เห็นชอบให้มีการรับฟังความเห็นในโครงการแลนด์บริดจ์ คุณเศรษฐาก็หอบหิ้วพิมพ์เขียวซุปเปอร์เมกะโปรเจกต์นี้ ไปโรดโชว์พูดคุยกับ “สี จิ้นผิง” ประธานาธิบดีจีน ระหว่างการเดินทางเยือนประเทศจีนอย่างเป็นทางการ วันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา

รวมถึงระหว่างการไปเยือนซาอุดีอาระเบีย เมื่อวันที่ 21 ต.ค. ก็ได้นำเสนอ โครงการนี้มาขายฝันกับกลุ่มซีอีโอบริษัทลงทุนระดับโลกของซาอุดีอาระเบีย เช่นกัน

...

ล่าสุดก็เตรียมนำไปโชว์ในเวทีเอเปก 2023 ที่สหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 12-18 พ.ย.นี้ รวมทั้งการเยือนญี่ปุ่นเพื่อร่วมประชุม ASEAN-Japan Com memorative Summit ในวันที่ 14-17 ธ.ค. ก็จะขนโครงการนี้ไปนำเสนอด้วย

โครงการแลนด์บริดจ์นี้ มีกระทรวงคมนาคมเป็นเจ้าภาพ มีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 1.4 ล้านล้านบาท ได้กำหนดรูปแบบการพัฒนา 3 ส่วน คือ 1.ท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน โดยในฝั่งอ่าวไทยตั้งอยู่ที่แหลมอ่าวอ่าง อ.ราชกรูด จ.ระนอง รองรับสินค้า 20 ล้าน TEU มีร่องน้ำลึก 21 เมตร ส่วนฝั่งอันดามันตั้งอยู่ที่แหลมริ่ว อ.หลังสวน จ.ชุมพร รองรับสินค้า 20 ล้าน TEU มีร่องน้ำลึก 17 เมตร

2.การเชื่อมการขนส่งระหว่างท่าเรือ ประกอบด้วยมอเตอร์เวย์ 6 ช่องจราจร ระยะทาง 21 กิโลเมตร, รถไฟทางคู่ขนาดราง 1.435 เมตร และรถไฟทางคู่ขนาดราง 1 เมตร

3.ท่อขนส่งน้ำมันสำหรับน้ำมันสำเร็จรูปและก๊าซธรรมชาติ

ในระยะหลังมานี้ โครงการแลนด์บริดจ์กลายเป็นมหากาพย์ที่ควบคู่มากับอภิมหาโปรเจกต์คลองไทย มีการแบ่งฝ่ายเชียร์โครงการที่ตัวเองสนับสนุน พร้อมกับหาข้อเสียมาติติงอีกโครงการ

ดังนั้น หากรัฐบาลหวังจะชูซุปเปอร์เมกะโปรเจกต์นี้ขึ้นมาขาย คงต้องใช้พลังภายในกันมากหน่อย แม้รัฐบาลจะอ้างว่าจำเป็นต้องสร้างเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวใหม่ให้กับประเทศ แต่ก็ต้องศึกษารายละเอียดให้ชัดเจนถึงกลุ่มลูกค้า ทั้งฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ที่สำคัญสุดคือจะชิงลูกค้ามาจากสิงคโปร์-มาเลเซีย จากเรือที่เดินทางผ่านช่องแคบมะละกาได้อย่างไร

แลนด์บริดจ์มีทั้งจุดดี-จุดด้อย เมื่อเทียบกับการร่นระยะเวลาได้ไม่กี่วัน กับต้นทุนที่จะเพิ่มสูงขึ้นกับการต้องพักสินค้าจากท่าเทียบเรือฝั่งหนึ่ง รอการขนส่งไปยังท่าเทียบเรืออีกฝั่งหนึ่ง เพื่อขนสินค้าขึ้นเรือนำสินค้าไปส่งต่อ ทุกขั้นตอนล้วนมีต้นทุนที่สูงขึ้น ไม่อยากให้ผุดโครงการขึ้นมา พอขับเคลื่อนไปสักพักก็หายไป เหมือนอย่างโครงการอีอีซีที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ทำเอาไว้ วันนี้พอเปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลคุณเศรษฐาดูเงียบๆลงไป ไม่มีการขับเคลื่อนต่อเนื่อง อย่าลืมว่าเราหมดต้นทุนกับโครงการเหล่านี้ไปมหาศาลแล้ว อย่าเอาแต่ตำน้ำพริกละลายทะเล.

เพลิงสุริยะ

คลิกอ่านคอลัมน์ "หมายเหตุประเทศไทย" เพิ่มเติม