สำนักโพลศรีปทุม-ดีโหวต เผยผลสำรวจโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท ส่วนใหญ่สนับสนุนหากทำได้โดยไม่ต้องกู้เงิน หวังนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวันมากที่สุด
วันที่ 28 ตุลาคม 2566 มหาวิทยาลัยศรีปทุม (SPU) ร่วมกับดีโหวต (D-vote) เปิดเผยผลการสำรวจในประเด็น “คุณสนับสนุนให้มีโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาทหรือไม่?” โดยสำรวจระหว่างวันที่ 15-23 ตุลาคม 2566 จากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกช่วงอายุ ภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และระดับรายได้ทั่วประเทศ จำนวน 1,158 ตัวอย่าง ค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0 พบว่า
- ร้อยละ 49.53 ระบุว่า สนับสนุน หากสามารถทำได้โดยไม่ต้องกู้เงิน
- ร้อยละ 33.86 ระบุว่า สนับสนุน แม้ต้องกู้เงินมาทำก็ตาม
- ร้อยละ 12.09 ระบุว่า ไม่สนับสนุน ไม่ว่าจะกู้หรือไม่กู้เงินมาทำก็ตาม
- ร้อยละ 4.52 ระบุว่า ไม่รู้/ไม่แน่ใจ
สำหรับคำถามในประเด็น คุณอยากใช้เงินดิจิทัล 10,000 บาท ทำอะไรมากที่สุด? โดยผู้ตอบให้ความเห็นได้ตามความคิด แม้รัฐบาลจะไม่ได้ประกาศว่าให้ใช้ในประเภทนั้นหรือไม่ก็ตาม และเลือกได้สูงสุด 3 ข้อ พบว่า
- ร้อยละ 56.14 ระบุว่า ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เช่น กินอาหาร จ่ายค่าน้ำค่าไฟ
- ร้อยละ 39.32 ระบุว่า ชำระหนี้
- ร้อยละ 30.75 ระบุว่า ซื้อของที่อยากได้
- ร้อยละ 23.24 ระบุว่า ลงทุน หรือสร้างธุรกิจ
- ร้อยละ 18.91 ระบุว่า นำเงินดิจิทัลไปแลกเป็นเงินสด (แม้จะต้องถูกเก็บค่าแลกก็ตาม)
- ร้อยละ 16.36 ระบุว่า ซื้ออุปกรณ์ทำงาน เช่น ปุ๋ย เครื่องจักร คอมพิวเตอร์
- ร้อยละ 8.74 ระบุว่า ท่องเที่ยว
- ร้อยละ 6.50 ระบุว่า รวมเงินกับคนอื่นๆ มาพัฒนาชุมชน เช่น สร้างแหล่งน้ำ
...
สำหรับคำถามในประเด็น หากรัฐเปิดให้นำเงิน 10,000 ของคุณไปรวมกับคนอื่น บางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้ เพื่อให้ได้ก้อนที่ใหญ่มากขึ้นได้ คุณมีแนวโน้มจะทำหรือไม่?
- ร้อยละ 40.23 ระบุว่า ทำ จะรวมกับครอบครัว เช่น นำไปสร้างธุรกิจ สร้างบ้าน
- ร้อยละ 21.97 ระบุว่า ไม่ทำ จะใช้คนเดียว
- ร้อยละ 15.54 ระบุว่า ทำ จะรวมกันภายในชุมชน เช่น นำไปทำโครงการในชุมชน สร้างวิสาหกิจชุมชน
- ร้อยละ 14.96 ระบุว่า ทำ จะรวมกับเพื่อนหรือหุ้นส่วน เช่น นำไปสร้างธุรกิจ
- ร้อยละ 7.31 ระบุว่า ไม่รู้/ไม่แน่ใจ
ทางด้าน ดร.ธรรม์ธีร์ สุกโชติรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักโพลศรีปทุม-ดีโหวต ระบุว่า จุดเริ่มต้นความสำเร็จของโครงการรัฐบาล คือการฟังเสียงและตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกันของประชาชนแต่ละกลุ่มให้ได้มากที่สุด ข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นแนวทางที่อาจสามารถลดปริมาณการกู้ได้ เช่น การแบ่งเฟส โดยให้เฟสแรกเน้นกลุ่มผู้มีรายได้น้อยกว่า 40,000-50,000 บาท เพราะคนกลุ่มนี้มีแนวโน้มจะนำเงินไปใช้จ่ายในสิ่งที่ขาด และทำให้เกิดตัวคูณทางเศรษฐกิจก่อนได้ระดับหนึ่ง และเฟสสองให้กลุ่มผู้มีรายได้มากกว่า โดยกลุ่มนี้อาจกำหนดหรือสนับสนุนให้ใช้ในการลงทุนหรือการรวมกลุ่มกัน เพื่อลดการใช้จ่ายกับสิ่งที่หาซื้อได้อยู่แล้วจนกลายเป็นเพียงการออมเงินที่มีอยู่แล้ว ซึ่งเทคโนโลยีบล็อกเชนสามารถใช้เพื่อสนับสนุนการจัดการข้อกำหนดต่างๆ รวมถึงการวัดผลตัวคูณทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้ สามารถทำได้ง่ายและโปร่งใส.