กระทรวงดิจิทัลฯ วอนอย่าแชร์ข่าวปลอม เผย 10 อันดับที่ประชาชนสนใจมากที่สุด ขออย่าหลงเชื่อ ต้องรู้เท่าทัน
วันที่ 22 ตุลาคม 2566 นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะโฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 13-19 ตุลาคม 2566 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 1,277,070 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 168 ข้อความ
ทั้งนี้ ช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 144 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 24 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 95 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 57 เรื่อง
...
ข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย
กลุ่มที่ 1 : นโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ จำนวน 51 เรื่อง อาทิ ค่าทำแอปพลิเคชันสำหรับโครงการแจกเงินดิจิทัล 1.2 หมื่นล้านบาท
กลุ่มที่ 2 : ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมาย 28 เรื่อง อาทิ ขณะหลับสมองมีการสร้างเซลล์สมองใหม่ เพื่อไว้ใช้ในวันถัดไป การที่อดนอนเป็นการทำลายช่วงเวลาการสร้างเซลล์สมอง เป็นต้น
กลุ่มที่ 3 : ภัยพิบัติ จำนวน 6 เรื่อง อาทิ กรมอุตุฯ เตือนเตรียมรับมือพายุลูกใหม่เข้าไทย เฝ้าระวังฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ภาคเหนือและอีสาน ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน 14-23 ตุลาคม 2566 เป็นต้น
กลุ่มที่ 4 : เศรษฐกิจ จำนวน 10 เรื่อง ปตท. เปิดให้ลงทุนซื้อกองทุนปันผลระยะสั้น 1,000 บาท ปันผล 320 ต่อวัน 3,000 บาท ปันผล 990 บาทต่อวัน เป็นต้น โดยเป็นเรื่องการหลอกลวงธุรกรรมทางการเงิน จำนวน 9 เรื่อง
นายเวทางค์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจลำดับต้นๆ ในสัปดาห์ล่าสุดนี้ พบว่าส่วนใหญ่เป็นข่าวด้านกลุ่มนโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ รองลงมาเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และกลุ่มเศรษฐกิจ ตามลำดับ โดยข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่
อันดับที่ 1 : การบินไทยรับสมัครพนักงานหลายอัตรา รายได้ 26,000 ต่อเดือน สมัครฟรี ไม่ต้องอบรบ ไม่ต้องเดินทาง
อันดับที่ 2 : ออมสินปล่อยสินเชื่อธนาคารประชาชน เพื่อแก้ไขหนี้นอกระบบ วงเงินกู้สูงสุด 50,000 บาท ผ่อนนาน 5 ปี
อันดับที่ 3 : ออมสินปล่อยกู้ฉุกเฉิน 10,000-300,000 บาท ผ่านเพจ NBKC CPT14
อันดับที่ 4 : ออมสินปล่อยสินเชื่อเปิดบริการให้ยืม 10,000-1,000,000 บาท ผ่านเพจ BK CPT 2366
อันดับที่ 5 : ออมสินปล่อยเงินกู้ด่วน 5,000-10,000,000 บาท ผ่านเพจสินเชื่อออมสิน ทุกอาชีพก็กู้ได้
อันดับที่ 6 : ออมสินเปิดบริการให้ยืม 10,000-1,000,000 บาท ผ่านเพจ BK CPT 03 เพจ CPK BT 54 และเพจ NBKC CPT 2254
อันดับที่ 7 : ลงทุนซื้อกองทุนปันผลระยะสั้นกับ ปตท. 1,000 บาท รับปันผล 320 ต่อวัน 3,000 บาท ปันผล 990 บาทต่อวัน
อันดับที่ 8 : พม. เปิดเพจเฟซบุ๊กใหม่ชื่อศูนย์ช่วยเหลือสังคม
อันดับที่ 9 : เพจศูนย์ดำรงธรรมร้องทุกข์ ออนไลน์ เปิดรับแจ้งความเฉพาะถูกโกงออนไลน์
อันดับที่ 10 : ปตท. ขาย SET50 กองทุนรวมทองคำไทย เปิดพอร์ต 999 บาท ปันผล 260 บาท/วัน 3,999 บาท ปันผล 780 บาท/วัน
อย่างไรก็ตาม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ขอให้ประชาชนตระหนัก รู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียลมีเดีย ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทันและมีการส่งต่อข้อมูลข่าวปลอมเหล่านี้ จะทำให้ได้รับข้อมูลผิดๆ และส่งผลกระทบกับประชาชนที่หลงเชื่อข่าวปลอม โดยสามารถติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ที่ ไลน์ @antifakenewscenter เว็บไซต์ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย ทวิตเตอร์ AFNCThailand และสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 ตลอด 24 ชั่วโมง.