ปฏิบัติภารกิจหัวหน้าเซลแมนได้สมคำรํ่าลืออย่างที่ประกาศเอาไว้ เมื่อยกคณะไปเยือนจีนอย่างเต็มรูปแบบ

เพราะมิใช่แค่บรรดารัฐมนตรีเท่านั้น แต่ยังหนีบนักธุรกิจคนสำคัญของประเทศเดินทางไปด้วย ไหนๆไปแล้วจึงต้องว่ากันให้คุ้ม

“จีน” จัดประชุมบีอาร์เอฟว่าด้วยหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ซึ่งมีผู้นำประเทศต่างๆเข้าร่วมด้วย จึงมีโอกาสพบปะทำความรู้จักและสานสัมพันธ์ไปในตัว

“ปูติน” ประธานาธิบดีรัสเซีย ที่แนบแน่นกับ “สี จิ้นผิง” ผู้นำจีนก็ไปด้วย จึงเป็นโอกาสดีที่ได้พูดคุยกับผู้นำโลกในวาระเดียว

ถือว่างานนี้ตัดสินใจเดินทางไปได้อย่างถูกจังหวะถูกโอกาสที่สุด

ที่สำคัญได้ขึ้นเวทีแสดงวิสัยทัศน์ท่ามกลางมวลหมู่ผู้นำระดับโลก นอกจากจะได้เปิดตัวตนแล้ว ยังได้โชว์วิสัยทัศน์แสดงกึ๋น ให้รู้ว่าไทยนั้นไม่ใช่ธรรมดา

มีประเด็นหนึ่งที่พูดถึงก็คือโครงการ “แลนด์บริดจ์” ที่เป็นอภิมหาโปรเจกต์ของไทย ที่ดัดแปลงมาจากโครงการคอคอดกระเชื่อมต่อระหว่างอันดามันกับอ่าวไทย

คอคอดกระนั้นเป็นแนวคิดที่จะขุดคลองที่เชื่อมต่อ 2 ฝั่งแต่เนื่องจากคือปัญหาด้านความมั่นคง เพราะจะแยกแผ่นดินออกจากกัน จึงเป็นได้แค่แนวคิดแต่ไม่ดำเนินการในทางปฏิบัติ

“แลนด์บริดจ์” จึงเป็นไอเดียใหม่เข้ามาแทนที่ เพราะไม่ต้องขุดคลองแต่สามารถเชื่อมต่อกันได้ ระหว่างระนอง-ชุมพร โดยเส้นทางนี้ประมาณ 80 กว่ากิโลเมตร ด้วยการเชื่อมต่อระหว่างแผ่นดินแทนคลอง

โครงการนี้ตามแผนผังที่วางไว้จะมีการสร้างท่าเรือนํ้าลึกที่ทันสมัยทั้ง 2 ฝั่ง พร้อมกับทางรถไฟรางคู่อาจมีรถไฟความเร็วสูง มอเตอร์เวย์วางท่อก๊าซ ท่อนํ้ามันยาวถึงกัน

งบลงทุนคือล้านล้านบาท

...

ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี

ถามว่าทำไมต้องมีคลองคอคอดกระ ทำไมต้องมีแลนด์บริดจ์ คำตอบเดียวกันคือทำให้มีการเชื่อมต่อระหว่างมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก ไม่ต้องอ้อมผ่านช่องแคบมะละกา ร่นระยะทางในการขนส่งสินค้า นํ้ามันและก๊าซ

ทำให้การขนส่งรวดเร็ว เสียค่าใช้จ่ายน้อยลง

ที่สำคัญจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการขนส่งสินค้าต่างๆ ที่จะสร้างงานและมูลค่ามหาศาลให้ประเทศ

ไทยมีโครงการใหญ่อย่างอีอีซีที่ยังไม่สำเร็จเต็มรูปแบบ เป็นการพัฒนาอีกรูปแบบหนึ่งที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการให้ลุล่วง

“แลนด์บริดจ์” เป็นโครงการใหม่ ซึ่งตอนแรกนึกว่ารัฐบาลจะโยนทิ้งไปเสียแล้ว แต่สุดท้ายก็ผ่าน ครม. และนายกฯได้นำไปขายไอเดียให้นักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในโครงการนี้

ดูแล้วไม่น่ามีปัญหา เพราะนักลงทุนจีนนั้นเงินหนาและพร้อมที่จะลงทุนในไทยอยู่แล้ว ขอให้มีโปรเจกต์ที่มีอนาคตเท่านั้น

แต่โครงการนี้ของไทย ทำให้อีกหลายประเทศไม่ค่อยชอบนัก โดยเฉพาะสิงคโปร์ที่คัดค้านมาตั้งแต่คอคอดกระแล้ว

อีกประเด็นที่อยากฝากบอกไปถึงรัฐบาลก็คือ การให้ความสนใจต่อผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นด้วย คือการต้องเปิดใจรับฟังความเห็นของพวกเขาด้วย

จะได้ไม่มีปัญหาขัดแย้ง

พูดง่ายๆ ต้องให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน!

“สายล่อฟ้า”

คลิกอ่านคอลัมน์ “กล้าได้กล้าเสีย” เพิ่มเติม