เนื่องในวาระครบ 50 ปีของ 14 ตุลา 2516 ที่ผ่านมา มีหลายฝ่ายออก มาแสดงความคิดเห็นหลากหลาย โดยเฉพาะเรื่องประชาธิปไตยไทย บางคนถามว่า ทำไมประชาธิปไตยจึงไม่ก้าวหน้า ไม่รู้จักโต บางคนระบุว่า “ระบอบทุนนิยม” คือภัยคุกคามประชาธิปไตย จากการสมคบคิดระหว่างนายทุนกับนักการเมือง
บางคนมองว่าการลุกฮือของนักศึกษา เป็นปฐมบทของขบวนการประชาธิปไตยไทย เพื่อปลดปล่อยทหารจากการควบคุมธนาคาร การค้า และการลงทุน นายทุนเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้สนับสนุนพรรคมาเป็นนักการเมือง ผู้มี อำนาจสามารถแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีได้ ทำให้ประเทศไทยล้าหลัง
พรรคการเมืองจะก้าวหน้าและ อยู่ได้ด้วยความมั่นคง มักจะมีนายทุนเป็นผู้สนับสนุน บางยุคบางสมัยเรียกกันว่า “นักธุรกิจการเมือง” คนคนเดียวแต่มีสองบทบาท เป็นทั้งนักธุรกิจ และนักการเมือง และใช้เงินซื้อเสียงเพื่อให้ได้ สส.หรือเป็นรัฐมนตรี กลายเป็นที่มาของการทุจริต เสื่อมเสียต่อการเมือง
นั่นก็คือการใช้อำนาจ เพื่อถอนทุนคืน พร้อมทั้งดอกเบี้ย ทำให้นักการเมืองเสื่อมเสียความเชื่อถือ และเป็นโอกาสของฝ่ายเผด็จการ ใช้เป็นข้ออ้างเพื่อยึดอำนาจ มองในด้านนี้ เท่ากับว่าระบอบทุนนิยมทำลายประชาธิปไตย แต่ในการเลือกตั้ง 2566 ที่ผ่านมา กกต.บอกว่าหลายจังหวัดไม่มีร้องเรียนเรื่องซื้อเสียง
ต่างจากการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ มีการร้องเรียนเรื่องการซื้อเสียงนับพันๆ เรื่อง แต่ไม่ได้หมายความว่าปีนี้ไม่มีการซื้อเสียง แม้แต่ใน กทม. ที่มีบางพรรค “ระดม” คนไปฟังคำปราศรัยหาเสียง แต่มีเสียงเล่าลือกันว่า มีบางพรรคประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง โดยไม่ถูกร้องเรียนซื้อเสียง
...
แต่ในประเทศประชาธิปไตย “ทุนหรือเงิน” กับ “ประชาธิปไตย” เป็นของคู่กัน ทุกพรรคต้องระดมทุนเพื่อรณรงค์ทางการเมือง ในเรื่องที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่พรรคการเมืองไทย ดูคล้ายกับว่าจะ “เสพติด” การหาเสียง แบบลดแลกแจกแถม ตามนโยบายประชานิยม ซึ่งมอมเมาประชาชน
ประชานิยมในอดีต มักจะเป็นการแจกบ้าน แจกรถคันแรก หรือรักษาพยาบาลคนจนฟรี หรือเรียนฟรี แต่ขณะนี้วิวัฒนาการเป็นการแจกเงินดิจิทัล รัฐบาลปัจจุบันกำลังจะแจกเงินก้อนใหญ่ที่สุด ให้คนที่อายุ 16 ปีขึ้นไป คนละหมื่นบาท เป็นการแจกที่มโหฬารที่สุด รัฐบาลอ้างว่า เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุด.