“พีระพันธุ์” รมว.พลังงาน เสนอแนวทางลดน้ำมันเบนซินทั้งระบบเหมือนดีเซล หวังเป็นของขวัญปีใหม่ประชาชน จี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้คำตอบเรื่องโครงสร้างราคาน้ำมันเร่งด่วน 

วันที่ 16 ตุลาคม 2566 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงความคืบหน้าหลังจากที่กระทรวงพลังงานเสนอ 2 แนวทางจัดทำแผนช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้น้ำมันเบนซิน คือ มาตรการแรก ช่วยเหลือกลุ่มวินมอเตอร์ไซค์ ลดภาระค่าใช้จ่าย มาตรการที่ 2 คือการขยายจากกลุ่มวินมอเตอร์ไซค์ไปยังกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และผู้ประกอบการขนาดเล็กอื่นๆ 

ทั้งนี้ นายพีระพันธุ์ เห็นว่ายังไม่ใช่มาตรการที่ต้องการ จึงเสนอแนวทางที่ 3 ซึ่ง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นด้วยในแนวทางลดน้ำมันเบนซินในภาพรวมทุกระบบ เช่นเดียวกับที่ลดราคาค่าน้ำมันดีเซล ที่จะเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน ส่วนเป้าหมายจะต้องลดไม่น้อยกว่าดีเซล แต่ก็ต้องหารือกับกระทรวงการคลัง ว่าจะสามารถรับภาระได้เท่าไร เพราะพูดล่วงหน้าไม่ได้ ขณะที่จะทำได้ตามเป้าหมายหรือไม่ ก็ยังตอบไม่ได้

เมื่อถามว่า จำเป็นจะต้องใช้การลดภาษีสรรพสามิตหรือไม่ นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ต้องศึกษาให้ละเอียด หาเป้าหมายนโยบายหลักให้ไปทำงาน ส่วนนโยบายเป็นเรื่องของผู้เกี่ยวข้อง จะต้องได้คำตอบภายใน 2 สัปดาห์ “น้ำมันเบนซินมีปัญหาเรื่องโครงสร้างน้ำมัน ผมยังไม่เข้าใจหลังจากที่มาทำงานได้เดือนกว่า คนที่ทำงานมาเป็นปียังไม่สามารถให้คำตอบผมได้ แปลกประหลาด ผมต้องศึกษาข้อมูลข้อเท็จจริง หากปรับลดตรงไหนก็จะดำเนินการ เราพูดบนพื้นฐานบนโครงสร้างน้ำมันที่ใช้มาแล้วเป็นสิบๆ ปี ต้องหาแนวทางปรับลดราคามากกว่าและยั่งยืนกว่า ถ้าติดขัดเรื่องกฎหมายก็ต้องแก้ ไม่ใช่เรื่องยาก”

...

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อไปถึงค่าการตลาด ว่า ได้ตั้งคณะกรรมการทำการตรวจสอบอย่างเป็นทางการ เพราะคุยไปก็ไม่มีประโยชน์ เนื่องจากข้อมูลที่ให้มาก็อ้างว่าเป็นความลับทางการค้า จึงต้องตั้งคณะกรรมการศึกษาจริงจัง นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้คำตอบ ถ้าไม่ให้ก็ต้องใช้ของราชการเป็นหลัก เมื่อให้โอกาสนำตัวเลขมาชี้แจงไม่มา ตนก็ช่วยไม่ได้

สำหรับโครงสร้างราคาน้ำมัน มีตั้งแต่ราคาหน้าโรงกลั่น ที่บวกค่าการกลั่นแล้ว ที่จริงแล้วค่าการกลั่นคือกำไรเบื้องต้น ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายในการกลั่น ซึ่งอยู่ในงบดำเนินงาน ตนได้บอกกับเจ้าหน้าที่กระทรวงให้เปลี่ยนคำ เพราะใช้คำว่าค่าการกลั่น คนทั่วไปก็นึกว่าเป็นค่าใช้จ่าย แต่จริงๆ มันคือกำไรของโรงกลั่น โดยให้เวลาทำงาน 30-60 วัน ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องรอ เสียเวลา

นอกจากนี้ นายพีระพันธุ์ ยังกล่าวถึงเรื่องของผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ว่า ไม่ได้เกี่ยวกับกระทรวงพลังงาน เอกสารเพิ่งจะมาถึงวันที่ 27 กันยายน 2566 และ รมว.พลังงาน มีหน้าที่แค่เสนอชื่อเข้าที่ประชุม ครม. ตัดสินว่าจะเอาหรือไม่เอาใคร แต่เมื่อนำเข้าที่ประชุม ครม. วันที่ 22 พฤษภาคม 2566 มีมติเห็นชอบ แต่ให้ส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ความเห็นชอบก่อน แปลว่ามติ ครม. ยังมีเงื่อนไข ดังนั้น ต้องส่งเรื่องไปที่ กฟผ. หากยืนยันแล้วก็นำเข้า ครม. อีกครั้ง ก่อนระบุทิ้งท้ายว่า “เป็นการทำตามขั้นตอน แต่รายชื่อบุคคลต้องไปถามที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ เพราะเขาเป็นผู้ส่งรายชื่อ ผมเป็นแค่ผู้ส่งเข้า ครม. เท่านั้น”.