เดือนกว่าๆในอำนาจ ช่วงดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ ฮันนีมูนพีเรียดของรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” นายกฯและ รมว.คลัง ถ้าหากจะมีก็คงประเดี๋ยวประด๋าว

เฮฮาแบบสดใหม่ไม่ทันไร เจอคิวแทรกคิวร้อนเป็นระลอกๆ

ล้วนแล้วแต่เป็น “เหตุไม่คาดฝัน” วิกฤติฉุกเฉินที่นายกฯต้องเร่งบริหารจัดการ ตั้งแต่เผือกร้อนตั้ง ผบ.ตร.ศึกสีกากี เหตุเด็กกราดยิงกลางห้างเมืองกรุง ตามด้วยอุทกภัย ฯลฯ

ล่าสุดไฟสงคราม ฮามาส–อิสราเอล ระอุเดือดไปทั่วโลก

แม้เหตุจะอยู่ไกลประเทศ แต่กระทบคนไทยอย่างหนักหน่วง ยอดผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ ถูกจับไปเป็นตัวประกันติดอันดับต้นๆ

ที่สำคัญแผนพาคนไทยกลับบ้านของรัฐบาล เริ่มมีเสียงบ่น อืดเกิน

เป็นสถานการณ์ที่ “นายกฯเศรษฐา” ก็เริ่มรับรู้ได้ ล่าสุดต้องทำงานควบ คิดหาวิธี ประสานงาน ดูช่องทางช่วยคนไทยตลอดทริปเยือนต่างประเทศ

ออกมาให้สัมภาษณ์วันละหลายรอบ สรุปคือ รัฐบาลดูทุกช่องทางรอบด้าน ทั้งแผนเดิม จัดส่งเครื่องบินกองทัพไปรับกลับ เช่าเหมาลำสายการบินพาณิชย์ กระทั่งอพยพทางเรือก็เล็งไว้

...

ยังไม่รวมดีลลับปมละเอียดอ่อน ประสานทุกประเทศที่มีช่องทางช่วยตัวประกันคนไทย

ในโจทย์สำคัญต้องเร่งด่วน จะพะว้าพะวงไม่ได้

เช่นเดียวกับคิว “คิดใหญ่ ทำเป็น” ตามสโลแกนพรรคเพื่อไทย โจทย์ใหญ่ขับเคลื่อนนโยบาย “เรือธง” แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ทำ “นายกฯเศรษฐา” ว้าวุ่นไปเหมือนกัน

จากกระแสคัดค้านต่อต้าน โดยเฉพาะกลุ่มคน “เสียงดัง” มาทั่วทิศ ล่าสุดเป็นคิว ป.ป.ช.ทักท้วง โฟกัสที่มาของงบฯ ช่องว่างรูโหว่การใช้จ่าย

ชนิดเลขาธิการ ป.ป.ช. ระบุ ทีมอรหันต์ ป.ป.ช.เตรียมตั้งอนุกรรมการติดตามโครงการ

ยกโมเดล “จำนำข้าว” มาเป็นคู่เทียบ มอนิเตอร์เกาะปม “โกง”

คาดโทษล่วงหน้ากันตรงๆ หาก ป.ป.ช.มีข้อเสนอแนะท้วงติงไปแล้ว ครม.ไม่ปฏิบัติตาม ถ้าเกิดความเสียหายขึ้นมา ถือว่าเตือนแล้ว แต่ไม่ฟัง “เมื่อเกิดปัญหา ต้องรับผิดชอบ”

อันนี้ก็ถือเป็นอีกชนวนแรงต้านสำคัญ นอกจากสารพัดเสียงท้วง ทั้งจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จนนายกฯเศรษฐาต้องเรียก “ผู้ว่าการเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการ ธปท.มาหารือ

ส่งสัญญาณฟ้าร้อง-ฟ้าแลบ เสี่ยง “ฟ้าผ่า” ตามมา

ตามด้วยสายเครือข่ายอดีตผู้บริหารแบงก์ชาติ อดีตคณบดี คณบดี นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ เข้าชื่อกันทะลุ 100 กว่าราย เรียกร้องให้ล้มเลิกนโยบาย

รวมทั้งเสียงจากสภาสูง สว.ที่แผ่วไปพักใหญ่ กลับมาขึงขัง จนคนรัฐบาลต้องเงี่ยหูฟัง

ทางหนึ่งแม้จะระดมทีมรัฐบาลเพื่อไทย ออกมาสวนหมัด ระดมกองเชียร์ชาวบ้านส่งเสียงหนุน อีกทางก็ส่งมืออาชีพนักวิชาการเศรษฐศาสตร์แจงนโยบาย เหตุผล ความจำเป็น ด้วยชุดข้อมูลเศรษฐกิจอีกด้าน

แต่ก็ไม่ได้ปิดหูปิดตา ไม่สนไม่ฟัง เริ่มมีสัญญาณ “ปรับปรุง– ทบทวนโครงการ” โดยเฉพาะปรับกติกาช่วยเหลือเฉพาะ “ผู้ที่ เดือดร้อน” เริ่มส่งสัญญาณถอย หว่านเหวี่ยงแหแจกเงิน 50 กว่า ล้านคน

เหนืออื่นใด ที่ต้องเร่งเคลียร์คัตตัดตอน คิวหลุดของระดับผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจการคลัง ที่ออกโรงมาชี้แจงโครงการให้รัฐบาล ดันหลุดปากแผนหาเงิน หางบฯมาใช้จ่าย

นอกจากแผนยืมงบฯธนาคารรัฐมาใช้บางส่วน จัดเก็บรายได้เกินเป้ามาเติม ยังยกตัวอย่างในต่างประเทศ

ตัดขายหุ้นรัฐวิสาหกิจบางส่วนมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจแม้ออกตัวว่าเป็นแนวทางตามหลักวิชาการ รัฐบาลยังไม่ได้มีแนวคิดนี้ แต่แค่เอื้อนเอ่ยปมนี้ทำหลายฝ่ายจับจ้องตาเขม็ง

เพราะถือเป็นปมละเอียดอ่อน กับแนวคิดแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ที่เคยทำรัฐบาลไทยรักไทยโดนต้าน จนพังพาบ ไม่ต่างจากปมจำนำข้าว ทำ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” อวสาน

โครงการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท หากไม่รีบเคลียร์ทบทวน ปล่อยให้นโยบาย “เรือธง” ของรัฐบาลโคลงเคลงฝ่าอยู่ในคลื่นลมแรงต้าน

มันก็น่าหวาดเสียว เรือเสี่ยงคว่ำอยู่เหมือนกัน.

ทีมข่าวการเมือง

คลิกอ่านคอลัมน์ "วิเคราะห์การเมือง" เพิ่มเติม