กระแสต้าน เสียงคัดค้านมาเต็มผิดสังเกต นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ชักคลับคล้ายคลับคลาเหมือนกับตอนรัฐบาล นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อครั้งทำนโยบายจำนำข้าวไปทุกที
โครงการจำนำข้าวถูกคัดค้านอย่างหนักว่าเป็นนโยบายมหาประชานิยม ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายมหาศาล แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ยืนกรานเดินหน้าต่อบอกว่าเป็นนโยบายที่จะทำให้ชาวนาลืมตาอ้าปากได้
ไม่สนกระแส ไม่แคร์สื่อ เช่นเดียวกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯและ รมว.คลัง ที่ยังคงเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตท่ามกลางเสียงท้วงติงของหลายภาคส่วนในสังคม
อ้างประชาชนฐานรากอีกนับสิบล้านคนต้องการนโยบายนี้อย่างเร่งด่วน
และมันเป็นนโยบายลำดับต้นๆของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย หาเสียงเอาไว้ใหญ่โตเหมือนกัน
ดังนั้นถ้าไม่ทำก็คงเสียยี่ห้อ กล้าคิด กล้าทำ คิดใหญ่ ทำเป็น
ดูทรงแล้วทำมากกว่าไม่ทำแน่นอน เพียงแต่ทำแล้วจะสำเร็จหรือไม่ ต้องพลิกแพลงเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปจากเดิมหรือไม่ และผลลัพธ์ที่ออกมาจะดีหรือร้าย
ความจริงเสียงคัดค้านจากนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ นักการเงินการคลัง มีมาตั้งแต่ตอนหาเสียงเลือกตั้ง แต่เมื่อตัดสินใจเด็ดขาดแล้วถึงตอนนี้ก็ยังไม่เปลี่ยน
ท่าทีของรัฐบาลไม่ได้อ่อนลงตามเสียงท้วงติงที่ดังขึ้นเรื่อยๆ หนำซ้ำยังแข็งกร้าวกว่าเดิม
นักเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการชื่อดัง ลงชื่อคัดค้านกันกว่า 100 คน นำโดยอดีต 2 ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย รวมไปถึงนักเศรษฐศาสตร์ที่เคยเขย่าโครงการรับจำนำข้าวมาแล้ว
ทั้ง รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เมธี ครองแก้ว อดีตกรรมการ ป.ป.ช. และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
...
ทำให้สังคมต้องหันมาจับตา สแกนรายละเอียดและตรวจสอบท่าทีของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด
แต่นอกจาก “นายกฯนิด” จะยืนยันเดินหน้าแล้ว องคาพยพพรรคเพื่อไทยก็ยักไหล่ไม่สนใจแถมอัดกลับยับเยิน
บรรดารัฐมนตรี สส. สมาชิกพรรค สารพัดโฆษก ตลอดจนนักวิชาการในเครือข่าย ต่างออกมาช่วยกันแก้ต่างคัดง้างข้อคิดเห็นของบรรดากูรู นักเศรษฐศาสตร์
ธงชัยหลักยึดคือประชาชนคนรากหญ้า หาเช้ารับประทานค่ำ การกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ
แม้วัดกันตามทฤษฎี สมการตัวเลขจะเทียบกับเหล่านักเศรษฐศาสตร์ไม่ได้
แต่รัฐบาลเพื่อไทยขอเลือกมองในเชิงปฏิบัติ เดิมพันด้วยประสบการณ์ที่เคยทำมาก่อน
กระทั่งมีความเห็นจากนางสุวณา สุวรรณจูฑะ 1 ในกรรมการ ป.ป.ช. ออกมาระบุว่า ป.ป.ช.กำลังทำการศึกษานโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทของรัฐบาลอยู่
น่าสนใจขึ้นมาทันที ทุกคนต้องหันมอง เพราะมันเป็นการเคลื่อนไหวเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นตอนนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ คือถูก ป.ป.ช.มอนิเตอร์แล้ว
แม้โครงการยังไม่เริ่ม ยังไม่ได้เกิดอะไรขึ้น แต่ความน่าหวาดกลัวคือ เมื่อไหร่ที่เกิดความเสียหาย เมื่อนั้นความเสี่ยงของผู้รับผิดชอบจะเกิดขึ้นทันที ภัยอาจมาถึงตัวทั้งโดยตรง หรือโดยอ้อม
ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับมหากาพย์โครงการรับจำนำข้าว
ดังนั้นโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท จะเข้าสู่อันตรายต่อเมื่อเริ่มโครงการ ที่กำหนดดีเดย์ไว้ช่วงต้นปี 2567
และแน่นอนว่าเบอร์ 1 อย่าง “นายกฯนิด” คงเลี่ยงการถูกตรวจสอบไม่พ้น หากเกิดความเสียหาย หรือผิดพลาดอะไรขึ้นมา
ต้องจับตาดูรัฐบาลจะเดินหน้าเรื่องนี้อย่างไร เพราะกว่าจะลงมือทำก็ยังอีกนาน
แต่ที่แน่นอนคือถอยไม่ได้แน่ แต่จะลดทอนหรือปรับปรุงนโยบายตามข้อห่วงใยหรือไม่ จุดนี้น่าสนใจอย่างยิ่ง
สุดท้ายแล้วเสียงคัดค้านที่ดังกระหึ่มอาจกลายเป็นผลดีกับรัฐบาลเพื่อไทย และ “นายกฯนิด”
ยอมถอยมาพบกันครึ่งทาง ในภาวะที่รัฐบาลจะเดินหน้านโยบายนี้เต็มเกียร์ก็ลำบาก ปาดเหงื่อเหมือนกัน
อาจติดทั้งเรื่องข้อกฎหมาย ภาระงบประมาณ และอื่นใด อีกจิปาถะ
สุดท้ายก็อาจมีคำตอบสุดท้ายว่าทำไปด้วยความระมัดระวังรอบคอบแล้ว
แต่ผลลัพธ์จะน่าพอใจต่อคะแนนเสียง กระแสนิยมหรือไม่
เป็นเรื่องที่นายกฯนิด และพรรคเพื่อไทยต้องชั่งใจเอาเอง.
ทีมข่าวการเมือง
คลิกอ่านคอลัมน์ "วิเคราะห์การเมือง" เพิ่มเติม