พจนานุกรมพุทธศาสตร์ฉบับประมวลศัพท์ (สมเด็จพระพุทธ โฆษาจารย์) ป.อ.ปยุตโต อธิบายคำว่า “บารมี” คือคุณความดีที่บำเพ็ญอย่างยิ่งยวด เพื่อบรรลุจุดหมายอันสูงยิ่ง

บารมีที่พระโพธิสัตย์ต้องบำเพ็ญให้ครบบริบูรณ์ จึงบรรลุโพธิญาณ เป็นพระพุทธเจ้ามี 10 คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ เมตตา และอุเบกขา

มหาชาติ หรือชาติใหญ่ ที่พระโพธิสัตว์บำเพ็ญเป็นบารมีสุดท้าย ชาวพุทธไทยคุ้นเคย คือทานบารมี คือชาติที่พระโพธิสัตว์เสวยชาติเป็นพระเวสสันดร

แต่อีกหลายชาติ..ที่เด็กวัดเก่ารุ่นผม ยังหลงๆลืมๆ จำไม่ได้ชาติไหน

วันนี้อยากรู้ขึ้นมา ชาติที่ทรงบำเพ็ญอุเบกขาบารมี หาหนังสือใกล้มืออ่านไม่เจอ จึงต้องพึ่งอากู๋

บัดดล ทันใจ ก็ได้ความ...ชาตินี้ทรงเป็น พระนารทมหาพรหม เอ้อ! นึกภาพได้บ้างรางๆ จากภาพเขียนของ ส.ธรรมภักดีที่มีติดตามศาลาวัด ช่วง พ.ศ.2500 ทรงหาบสาแหรกใส่ของมีค่า เหาะลิ่วๆลอยอยู่บนฟ้า นั่นปะไร

เข้าเนื้อเรื่องดีกว่า..กาลครั้งหนึ่ง พระเจ้าอังคติราช กษัตริย์นครมิถิลา มีปกติอยู่ในทศพิธราชธรรม ปกครองบ้านเมืองด้วยดี ทรงมีพระธิดา พระนามรุจา

นอกจากทรงพระสิริโฉมโสภา ระลึกชาติก่อนๆได้ 7 ชาติ และรู้ว่าชาติหน้าจะเกิดต่อไปเป็นอะไรได้อีก 7 ชาติ

คืนหนึ่งเดือนหงาย พระราชาถามอำมาตย์ ควรจะทำอะไรดี อำมาตย์คนหนึ่งแนะให้ฟังธรรม ทูลให้ไปหา คุณาชีวก นักบวชชีเปลือย “พวกเดียวกับที่หลอกเอาไม้เท้าวิเศษ กับม้ามังกร จากสุดสาคร นั่นล่ะ!”

คุณาชีวกสอนว่า สวรรค์ไม่มี นรกไม่มี..บาปไม่มี บุญไม่มี..มนุษย์เกิดๆตายๆไป 8 กัปป์ ก็จะพ้นทุกข์ไปเอง

ระหว่างนั้น มีชายยากจน ทูลพระราชาว่า เมื่อชาติก่อนเกิดเป็นเศรษฐี ทำบุญสุนทานไว้มากมาย แต่ชาตินี้กลับมาเกิดเป็นคนยากจน แสดงว่าบุญไม่ให้ผลจริง อังคติราช โน้มเอียงไปเชื่อเรื่องนี้

...

กลับนครก็สั่งยกเลิกโรงทานสี่มุมเมือง เสวยสุขสำราญไปวันๆ พระธิดารู้ข่าวก็มาขอเงินหนึ่งพันไปทำทาน พระราชาบอกพระธิดาทำทานไปก็ไร้ประโยชน์

พระธิดาทูลว่า ชายยากจนที่ทูลว่าระลึกชาติก่อนเป็นเศรษฐีได้ ความจริงชาติก่อนหน้า เขาเกิดเป็นคนเลี้ยงวัว ที่ด่าทอพระ ผลบาปชาตินั้นตามมาก่อนผลบุญ

ตัวพระธิดาเองนั้น รู้ว่าผลบาป เหมือนสินค้าถ้าบรรทุกใส่เรือไว้มากๆ ถึงจุดหนึ่ง เรือก็จม

อังคติราชไม่เชื่อพระธิดา ร้อนถึง นารทมหาพรหม จากพรหมโลก เนรมิตตนเป็นฤาษีหาบสาแหรก ทองข้างหนึ่ง คนโทแก้วข้างหนึ่ง ลอยมาบนอากาศ สอนพระราชา ให้เชื่อบุญเชื่อบาป ย้ำว่าสัตว์โลกต้องเป็นไปตามกรรม

ทั้งพรรณนาถึงนรกที่คนบาปจะต้องไปตกหมกไหม้ พระราชาทรงกลัวนรก กลับพระทัยมาเป็นสัมมาทิฐิ ตั้งอยู่ในศีลในธรรมตามเดิม

ชาดกเรื่องนี้มีธรรมเนียม “ประชุมชาดก” คือสรุปว่า พระนารทมหาพรหม องค์นั้น คือพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติ มาบำเพ็ญอุเบกขาบารมี..ที่เน้นการวางใจให้เป็นกลาง เลือกคบคนดีไม่คบคนเลว

ตามลำดับองค์บารมี อุเบกขาบารมี เป็นบารมีที่สุดท้าย แต่ตามลำดับที่พระโพธิสัตว์อุบัติเสวยพระชาติเป็นพระนารทมหาพรหม เป็นพระชาติที่ 8 ครับ

อุเบกขาบารมี..ที่พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญ ก่อนมาเป็นพระ พุทธเจ้า..ก็มีอยู่ใน ทศพิธราชธรรม..ธรรมะสิบข้อของพระราชา หรือจะว่าไป ก็คือ คุณสมบัติหนึ่งของคนเป็นผู้นำ

ใครที่เคยเป็นผู้นำ คิดจะเป็นผู้นำ หรือกำลังเป็นผู้นำ รู้กันดี “อุเบกขา” นั้นสำคัญ พลาดพลั้งไม่ตั้งมั่น มักเกิดผลให้ทั้งสองฝ่าย

ไม่ว่าฝ่าย ที่เผลอตัวหลุดปากด้อยค่าคนอื่นว่า “กวนโอ๊ย” หรือฝ่ายที่ถูกกล่าวถึงว่ากวนโอ๊ย ถ้าวางอุเบกขาเหมือน “สีทนได้” ก็น่าจะผึ่งผายกว่าการโวยวาย ออกมาให้ขายหน้าชาวบ้าน

ทุกคน..ทุกฝ่ายล่ะนะครับ..ถ้ายังมีลมหายใจ หนทางยังอีกยาวไกล..ใครทนได้มากกว่า มักเป็นผู้มีชัยอย่างน้อยก็สักครั้ง.

กิเลน ประลองเชิง

คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม