"ศุภชัย" ร่วมเวทีเสวนา "คนทำการผลิตที่บ้าน" ย้ำพรรคภูมิใจไทยเสนอเรื่อง "Work From Home" ก่อนโควิดฯ-คลอดกฎหมายจนสำเร็จ แต่ต้องแก้ไขต่อไปเพื่อให้ทำได้อย่างจริงจัง รับทุกข้อเสนอมาแก้ไขกฎหมาย เผยสัมมนา สส.ภูมิใจไทยจะปรับให้ทันโลกยุคใหม่-ลดภาระประชาชน เชื่อเป็นยุค "Skill" นำ "Degree"

เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 66 ที่ห้องอเนกประสงค์ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นายศุภชัย ใจสมุทร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ร่วมเวทีเสวนา "ผู้หญิง คนทำการผลิตที่บ้าน" โดยมี น.ส.จิตติมา ศรีสุขนาม เจ้าหน้าที่บริหารโครงการอาวุโสประจำประเทศไทย และ สปป.ลาว องค์การแรงงานระหว่างประเทศ, นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์ SME ไทย, น.ส.นุชนภา บำรุงนา นายกสมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ (ประเทศไทย) ผู้ดำเนินรายการ น.ส.วิภาพร วัฒนวิทย์ จาก Thai PBS

โดย นายศุภชัย กล่าวว่า พรรคการเมืองต่างๆ บอกว่าประชาชนต้องมาก่อน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 3.7 ล้านคน แต่ไม่มีใครออกมาข้างหน้า พรรคภูมิใจไทยเสนอกฎหมาย Work From Home ตนเป็นคนเสนอกฎหมายฉบับนี้ พรรคภูมิใจไทยคิดเรื่องนี้ก่อนโควิด-19 ซึ่งพรรคเรายังไม่ได้ดูแลกระทรวงแรงงาน แต่คราวนี้พรรคภูมิใจไทยดูแล ซึ่งในการสัมมนา สส.พรรคภูมิใจไทย เมื่อวานนี้ (7 ต.ค.) เราคุยกันว่าต้องมีการทำงานรูปแบบใหม่ ไม่ใช่บอกพรรคมีนโยบายอะไรแล้วก็ทำ แต่ สส.ต้องไปพบประชาชนถามความประสงค์ความต้องการของประชาชนว่า จะให้พรรคภูมิใจไทยทำอะไร ดูแลเรื่องอะไรให้ไปรับฟังมา สส.เราจะลงพื้นที่ไปพบประชาชนว่า ท่านต้องการเรื่องอะไร แล้วรับเรื่องเข้าไปเสนอพรรค

"การร่วมรัฐบาลครั้งนี้ พรรคภูมิใจไทยดูแลกระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเกี่ยวข้องกับชีวิตประชาชน ตรงกับที่ อาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ เคยบอกว่า ตั้งแต่ครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอน ดังนั้นพรรคภูมิใจไทยจึงต้องดูแลประชาชนตลอดชีวิต วันนี้เราพบว่านโยบายประชานิยมอาจไม่สนองความต้องการ เวลาประชาชนคาดหวังว่าภาระที่รับผิดชอบอยู่ควรจะเบาลง เราจึงต้องการ "ลดภาระประชาชน" ในทุกเรื่อง" นายศุภชัย กล่าว

...

นายศุภชัย กล่าวต่อว่า ต้องยอมรับว่าโลกเปลี่ยน วันนี้เราอยู่ในยุค "Skill นำ Degree" อดีตที่ผ่านมา ใครจะเรียน ปวส.ใช้เวลา 5 ปี ทั้งที่ช่างเชื่อมเรียน แค่ 1 ปี สามารถออกมาประกอบอาชีพได้แล้ว รายได้วันละพันกว่าบาทแล้ว ทำไมต้องไปเสียเวลา เสียงบประมาณถึง 5 ปี เพื่อไปเอาดีกรี วันนี้เราให้คุณค่ากับ "ปริญญา" หรือ "สกิล" มากกว่ากัน เรื่องการสอบเทียบจะเอากลับมาหรือไม่นั้น งานวิจัยจะอยู่แต่ในหิ้งหรือในห้าง เราต้องนำมาใช้เพิ่มมูลค่า

"วันนี้ผมเป็นที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล จะประสานหน่วยงานและฝ่ายนิติบัญญัติ โดยนำเสนอร่างกฎหมายต่อรัฐสภา ท่านอยากจะให้แก้ไขกฎหมายอะไรก็เสนอมากับผม ถ้าจำเป็นต้องแก้ไขเราจะเสนอให้การนำงานกลับไปทำงานที่บ้าน หากมีอะไรก็ต้องวางมาตรการควบคุม โดยเป็นธรรมทุกฝ่าย เช่นเรื่องทำงานที่บ้านเกิดตกกระได หรือค่าใช้จ่ายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ใครจะรับผิดชอบ เรื่องความปลอดภัย ดังนั้นจะต้องมากำหนดมาตรการร่วมกัน อาศัยกลไกของกระทรวงแรงงาน ซึ่ง นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ให้ความสำคัญและเห็นด้วยกับเรื่องนี้ ดังนั้นเรามาทำงานร่วมกัน เราจะลดภาระให้กับท่านแบบนี้ดีหรือไม่" นายศุภชัย กล่าว

นายศุภชัย กล่าวต่อว่า ขอรับข้อเสนอ "ตนทำการผลิตที่บ้าน" ไปดำเนินการร่วมกัน คือ ผู้ทำการผลิตที่บ้านในประเทศไทยมีถึง 3.6 ล้านคน หรือร้อยละ 9.6 ของแรงงานที่มีงานทำ และเป็นแรงงานหญิงกว่า 2 ล้านคนหรือร้อยละ 56 ของผู้ที่ทำการผลิตที่บ้านทั้งหมด หลักประกันทางสังคมจากการทำงาน สตรีผู้ทำการผลิตเหล่านี้ส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงสิทธิ สวัสดิการ และหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน เช่น ได้ค่าแรงต่ำ ต้องทำงานหนัก มีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานกว่า 8 ชั่วโมง เข้าไม่ถึงการประกันสังคม อาชีวอนามัย และความปลอดภัยในการทำงาน ในขณะที่พวกเขาเหล่านี้เป็นกำลังสำคัญในการสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว ชุมชน และสังคม รวมทั้งมีส่วนสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

"พรรคภูมิใจไทยเห็นความสำคัญของสตรี ผู้ทำการผลิตที่บ้านในประเทศไทย โดยจะพัฒนาคุณภาพชีวิตมองอย่างรอบด้าน คือ ดูแลเรื่องสิทธิในการเข้าถึงระบบประกันสังคม ความปลอดภัยในการทำงาน กำกับดูแลให้มีการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 ซึ่งมีเจตนารมณ์เพื่อวางมาตรการควบคุม กำกับ ดูแล และคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน ดูแลเงินอุดหนุนเด็กเล็ก และศุณภาพของศูนย์เลี้ยงเด็กให้สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละพื้นที่ เพื่อปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพยิ่งขึ้น การเชื่อมตลาดในระดับท้องถิ่นจากกลุ่มสตรีที่ทำการผลิตให้มีศักยภาพในการผลิตสินค้า และบริการเขื่อมกับภาคการท่องเที่ยว และยกระดับสู่เวทีเศรษฐกิจโลก" นายศุภชัย กล่าว