การบริหารจัดการงบประมาณรายจ่ายในช่วงเวลาคาบลูกคาบดอกของ รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ที่เข้ามาบริหารประเทศเป็นภารกิจหลักสำคัญที่สุด แค่จะจัดงบรายจ่ายประจำ ก็ว้าวุ่นแล้ว ยังมีนโยบายเร่งด่วน นโยบายเฉพาะหน้าให้ว้าวุ่นอีกบานตะไท การเข้ามาเป็นผู้นำรัฐบาลแบบสะบักสะบอมของ นายกฯเศรษฐา ไหนจะต้องสร้างความเชื่อมั่นว่าเป็นนายกฯที่มาตามครรลองของประชาธิปไตย ไม่ได้ไปโกงใครมา ยังจะต้องแก้ปัญหาที่ค้างท่อมากมายต่อเนื่องมาจากรัฐบาลชุดที่แล้ว

นโยบายประเภทสวัสดิการต่างๆ ยกเลิกไม่ได้อยู่แล้ว การพักหนี้เกษตรกร การลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า กระเป๋าเงินดิจิทัล กับงบประมาณที่มีจำกัด ฟังดูแล้วเหนื่อยใจแทน อย่างกรณี พักหนี้เกษตรกร ที่เป็นลูกหนี้รายย่อยของ ธ.ก.ส. ที่มีหนี้สูงสุดไม่เกินรายละ 3 แสนบาท เป็นเวลา 3 ปี โดยรัฐจะชดเชยอัตราดอกเบี้ย 4.55% ต่อปี จะใช้งบจำนวนทั้งสิ้น 11,096 ล้านบาท จำนวน 2.689 ล้านราย รวมเป็นเงินทั้งหมด 283,327.99 ล้านบาท จะช่วยยกระดับกระบวนการฟื้นฟู การดำรงชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น และเป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาวได้หรือไม่

หรือจะเป็นการเพิ่มปัญหาดินพอกหางหมู เนื่องจากปัญหาหนี้สินเกษตรกรมีความละเอียดอ่อน และเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ยังมีเรื่องของ หนี้สินนอกระบบ การกู้ยืมเงินจาก ธ.ก.ส.โดยใช้ที่ทำกินค้ำประกันเพื่อนำไปใช้ประโยชน์อื่น เช่น นำไปใช้นอกระบบ นำไปซื้อรถ ไปใช้เป็นทุนการศึกษา หรือประกันการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ไม่ใช่หนี้สินเกิดจากการทำการเกษตร ไม่มีอะไรยืนยันเลยว่าหลังจาก 3 ปีของการพักหนี้แล้ว จะสามารถชำระหนี้ได้ต่อไปหรือทำให้การดำรงชีวิตดีขึ้น

กระเป๋าเงินดิจิทัล ที่รัฐต้องเตรียมแผนขยายเพดานมาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังเป็นร้อยละ 45 จากเดิมร้อยละ 32 ที่เตรียมเจรจากู้ยืมเงินจาก ธนาคารออมสิน โดยจะชำระหนี้คืนภายใน 3 ปี เนื่องจากต้องใช้งบประมาณถึง 5.6 แสนล้านบาท ให้ประชาชนใช้จ่ายภายใน 6 เดือน จะเริ่มต้นโครงการในวันที่ 1 ก.พ.2567 หรือภายในไตรมาสแรกปี 2567 รายละเอียดต้องลุ้นกันในที่ประชุม ครม. วันที่ 3 ต.ค.นี้อีกรอบ

...

ซึ่งถ้าเป็นไปตามนโยบาย การขยายเพดานหนี้ เพื่อนำเงินมาใช้ในโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต จากที่รัฐบาลชุดที่แล้วสามารถกู้ยืมเงินได้ 1.11 ล้านล้านบาท ก็จะเป็น 1.56 ล้านล้านบาท ซึ่งก็มีการวิพากษ์วิจารณ์จากภาคธุรกิจและนักวิชาการว่า อานิสงส์ของนโยบายนี้ที่เปิดช่องให้ซื้อสินค้าได้ทุกประเภทยกเว้นอบายมุขและสินค้าออนไลน์ จะตกแก่ ยักษ์ใหญ่ขายปลีกขายส่ง ห้างสรรพสินค้า โมเดิร์นเทรด ร้านสะดวกซื้อ ก็ไม่ต่างจากนโยบายชดเชยค่าครองชีพที่เคยทำมาแล้ว ผลลัพธ์คือไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่หนี้ภาครัฐเพิ่มขึ้นแน่นอน

ยังมีงบที่ต้องใช้ ในโครงการต่อเนื่อง เช่น รายการเงินสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า อีกจำนวน 1.24 พันล้านบาท ที่ ครม.ก่อนหน้านี้ได้อนุมัติงบกลางปีในการอุดหนุนโครงการยานยนต์ไฟฟ้าในวงเงิน 3 พันล้านบาท ประโยชน์ก็จะตกอยู่กับ ค่ายรถยนต์ มากกว่า นอกจากในส่วนของการลดภาษียานยนต์ไฟฟ้าแบบทั้งคันจาก 40% เหลือ 0% ที่ขยายเป็น 60% เหลือ 0% ที่รัฐต้องเสียไป

รัฐบาลที่ยังอยู่ในระยะว้าวุ่นระวังอย่าเสียค่าโง่ก็แล้วกัน.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th

คลิกอ่านคอลัมน์ “คาบลูกคาบดอก” เพิ่มเติม