นายกรัฐมนตรีไทย ถึงกัมพูชาแล้ว เข้าพบ “ฮุน มาเนต” ครั้งแรกหลังทั้งคู่เข้ารับตำแหน่งใหม่ ยืนยันความใกล้ชิดและหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ ร่วมกันปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และช่วยกันติดตามข่าวปลอม
วันที่ 28 กันยายน 2566 เมื่อเวลา 10.30 น. (เวลาที่กรุงพนมเปญเท่ากับเวลาที่กรุงเทพฯ) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมคณะเดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติกรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา จากนั้นนายกรัฐมนตรีและคณะ เดินทางไปยังสำนักนายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา เพื่อเข้าร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ จากนั้นในเวลา 11.00 น. นายกรัฐมนตรีหารือทวิภาคีกับสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาเนต (H.E. Samdech Moha Borvor Thipadei Hun Manet) นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา ณ ชั้น 2 ห้องรุมเจก (Rumchek Room) โดยภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญดังนี้
ก่อนการหารือนายกรัฐมนตรีทั้งสองต่างแสดงความยินดีต่อกันในโอกาสเข้ารับตำแหน่งนายกฯ ในช่วงเดียวกัน และมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศในทิศทางเดียวกัน โดยต่างย้ำมิตรภาพอันใกล้ชิดระหว่างสองประเทศ และเป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่จะเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีทั้งสองประกาศยกระดับความสัมพันธ์หุ้นส่วนยุทธศาสตร์และนายกรัฐมนตรีไทยขอเชิญนายกรัฐมนตรีกัมพูชาเยือนไทยด้วย
...
ผู้นำทั้งสองได้หารือถึงประเด็นสำคัญต่างๆ ร่วมกัน คือ
ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีไทยและกัมพูชาเห็นพ้องตรงกันที่จะส่งเสริมความร่วมมือมากยิ่งขึ้นทั้งการค้า การท่องเที่ยว การลงทุน การพัฒนาพื้นที่ชายแดน และภาคเศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่วมกันอำนวยความสะดวกและเพิ่มปริมาณการค้า ให้บรรลุเป้าหมาย 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2568 รวมถึงผลักดันการขนส่งข้ามแดนโดยเร่งรัดเปิดใช้สะพานมิตรภาพที่บ้านหนองเอี่ยน-สตึงบท การสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ การยกระดับจุดผ่านแดน และร่วมกันในเศรษฐกิจดิจิทัลและสีเขียว
ในด้านการท่องเที่ยว นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้ไทยและกัมพูชาส่งเสริมการท่องเที่ยว และเพิ่มความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ พร้อมทั้งขอให้กัมพูชาอนุญาตให้ใช้บัตรผ่านแดนชั่วคราว เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวตามแนวชายแดน ส่วนการลงทุน ผู้นำทั้งสองเห็นพ้องที่จะสนับสนุนการลงทุนระหว่างกันให้มากขึ้น รวมถึงเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น รวมทั้งส่งเสริมให้มีการจับคู่ธุรกิจมากขึ้น โดยเฉพาะ SMEs และผู้ประกอบการรุ่นใหม่
ด้านความมั่นคง นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้กัมพูชาจัดการประชุมคณะกรรมการเขตแดนร่วม (Joint Boundary Committee: JBC) ครั้งต่อไป เพื่อเดินหน้ายกระดับจุดผ่านแดน เพิ่มปริมาณการค้าชายแดน และยังได้เสนอให้ทั้งสองประเทศเร่งเก็บกู้ทุ่นระเบิดตามพื้นที่ชายแดน เพื่อความปลอดภัยของประชาชน และปูทางการพัฒนาเศรษฐกิจบริเวณชายแดน โดยนายกรัฐมนตรีย้ำว่า คณะทำงานของทั้งสองฝ่ายควรร่วมกันติดตามผล และนำการหารือของผู้นำทั้งสองในวันนี้ไปดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และนำกลับมารายงานให้ทราบ
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างหน่วยงานความมั่นคงในทุกระดับอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้ง อาชญากรรมข้ามชาติโดยเฉพาะบริเวณชายแดน พร้อมย้ำถึงการทำงานและความร่วมมือที่ใกล้ชิดเพื่อร่วมกันปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีย้ำถึงความเป็นพันธมิตรด้านการพัฒนาที่แข็งแกร่งระหว่างกัน ซึ่งรวมถึงด้านการศึกษา การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยพร้อมที่จะทำงานและร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับกัมพูชา เพื่อช่วยกันติดตามข่าวปลอม (fake news) ที่อาจสร้างความเข้าใจผิดในหมู่ประชาชน เพื่อดำเนินการป้องกันอย่างทันท่วงทีเมื่อจำเป็น
จากนั้น นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชาร่วมทำพิธีส่งมอบเชิงสัญลักษณ์ศูนย์แรกรับเหยื่อการค้ามนุษย์และกลุ่มเสี่ยงในปอยเปต จังหวัดบันเตียเมียนเจย ณ บริเวณห้องมะลิ ชั้น 2 ก่อนจะเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวัน ที่นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา จัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรี ณ ห้องลำดวล (Romdoul Hall) สำนักนายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา