สส.ก้าวไกล ชงทบทวนกฎหมายสถานบันเทิงให้เหมาะกับปัจจุบัน ทำให้เกิดช่องว่างหลบเลี่ยง-เจ้าหน้าที่ทุจริต พร้อมแนะแก้ปัญหาขอใบอนุญาตซ้ำซ้อน กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นกำหนดเวลาเปิดปิดและโซนนิ่ง
วันที่ 27 กันยายน 2566 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีการพิจารณาญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถานบันเทิงฯ เสนอโดย นายฉัตร สุภัทรวณิชย์ สส.นครราชสีมา พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นญัตติในลักษณะเดียวกันกับที่ สส. จากทั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคเพื่อไทย เสนอมา สภาจึงนำมารวมพิจารณาเป็นญัตติเดียวกันในวันนี้
สำหรับญัตตินี้มี สส.ร่วมอภิปรายจำนวนมาก รวมถึง สส.พรรคก้าวไกล เริ่มต้นที่ นายฉัตร ในฐานะผู้เสนอญัตติ ชี้ให้เห็นปัญหาของกฎหมายและระเบียบหลายประการที่นำไปสู่ปัญหาต่อทั้งผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย โดยด้านหนึ่งผู้ประกอบกิจการสถานบันเทิงต้องพบกับปัญหาจำนวนมากที่เชื่อมโยงไปถึงการรับผลประโยชน์โดยมิชอบโดยเจ้าหน้าที่
ประการแรก เกี่ยวเนื่องกับกฎหมายที่นำมาบังคับใช้กับกิจการสถานบันเทิง โดยเฉพาะพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509 ซึ่งมีปัญหาสำคัญอยู่ที่บทนิยาม และการให้คำนิยามของสถานบริการที่ไม่ครอบคลุมรูปแบบสถานบริการ ที่ปัจจุบันได้วิวัฒนาการไปไกลกว่ากฎหมายมากแล้ว เช่น การมีสถานบริการชั่วคราว หรือสถานบริการเคลื่อนที่ ซึ่งกฎหมายไม่ได้ครอบคลุม สภาวะเช่นนี้ทำให้เกิดความบกพร่องในการตั้งข้อหาหลายกิจการ ให้เข้าข่ายอยู่ในประเภทสถานบันเทิง หากกิจการใดที่ต้องการหลบเลี่ยงการเป็นสถานบันเทิง ก็ต้องปิดทำการก่อนเวลาที่กำหนด กลายเป็นช่องว่างที่คลุมเครือของทั้งผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งในการปฏิบัติตามกฎหมาย และยังนำไปสู่การเรียกรับผลประโยชน์ด้วย
...
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาว่าด้วยอำนาจหน้าที่ในการออกใบอนุญาตและการเพิกถอนใบอนุญาต อำนาจที่ทับซ้อนในการปฏิบัติหน้าที่ระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง รวมถึงการที่ผู้ประกอบการที่ต้องการเปิดกิจการสถานบริการ ต้องดำเนินการหลายขั้นตอนที่ยุ่งยาก ควรจะมีการเปลี่ยนเป็นการดำเนินการในจุดเดียวจบทุกขั้นตอน
ขณะเดียวกัน ยังมีกรณีปัญหาการกำหนดเวลาเปิดปิดกิจการ และการกำหนดเขต (โซนนิ่ง) ที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์จริง เพื่อป้องกันประชาชนจากการได้รับความเดือดร้อนจากมลภาวะทางเสียง กฎหมายในปัจจุบันจึงกำหนดเวลาเปิดปิดให้เหมือนกันทั่วประเทศ แต่การกำหนดเช่นนี้ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์จริงในปัจจุบันแล้ว และควรจะมีการกำหนดเวลาเปิดปิดให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจในแต่ละท้องถิ่นแทน เช่น อนุญาตให้ขยายเวลาเปิดปิดในพื้นที่ที่ห่างไกลจากชุมชนหรือในพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวหนาแน่นได้
ทางด้าน นายภัณฑิล น่วมเจิม สส.กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล อภิปรายสนับสนุนว่า พ.ร.บ.สถานบันเทิง เป็นกฎหมายที่มีปัญหาจริง โดยเฉพาะนิยามของคำว่า “สถานบริการ” ซึ่งโดยสรุปแล้ว ต้องมีองค์ประกอบคือ มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีพนักงานบริการ และมีดนตรี นี่คือสิ่งที่ต้องมีการปรับเป็นอันดับแรกที่สุดให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ซึ่งในมุมของผู้ประกอบการ ต้องมีการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับใบอนุญาต เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถควบคุมต้นทุนในการประกอบธุรกิจได้อย่างชัดเจน รวมถึงต้นทุนแฝงอื่นๆ โดยเฉพาะการขอใบอนุญาตที่กระจายไปในหลายหน่วยงานและมีความไม่สมเหตุสมผลต่างๆ ทั้งฝ่ายปกครอง ควบคุมอาคาร สรรพสามิต ทะเบียนการค้า ที่ทำให้ต้นทุนในการทำธุรกิจสูงกว่าที่ควรเป็น
ขณะที่ นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สส.กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ร่วมอภิปรายสนับสนุนญัตติดังกล่าวเช่นกัน ว่า การมีกฎหมายกำหนดเวลา แม้เป็นไปเพื่อป้องกันการรบกวนชุมชนในยามกลางคืน และด้วยเหตุผลด้านศาสนา แต่ในหลายประเทศการกำหนดโซนนิ่งและใบอนุญาต จะให้อำนาจแก่ท้องถิ่นในการพิจารณาข้อจำกัดต่างๆ หรือเวลาในการเปิดปิด เป็นเพราะต่างพื้นที่ต่างก็มีบริบทที่แตกต่างกัน เช่น เมืองท่องเที่ยวที่ควรเปิด 24 ชั่วโมง หรือผ่อนผันให้ขยายเวลาการเปิดได้ แต่ทั้งหมดเป็นเรื่องที่ไม่ควรต้องมาเถียงกันในสภาฯ เพราะควรจะเป็นอำนาจของท้องถิ่นในการพิจารณาเองแต่แรก
“เรื่องเล็กๆ ที่ต้องเป็นเรื่องใหญ่ในวันนี้ ก็เกิดมาจากเหตุที่ประเทศเราไม่กระจายอำนาจ ไม่มีสภาฯ ที่ไหนในโลกที่มีการกระจายอำนาจ มานั่งเถียงกันเรื่องจะเปิดปิดสถานบริการกี่โมง มันเป็นเรื่องระดับท้องถิ่น ฝากเพื่อนสมาชิกที่ศึกษา หาแนวทางให้ท้องถิ่นได้ตัดสินใจ ไม่ใช่คนจากส่วนกลางที่มาชั่วครั้งชั่วคราวมาตัดสินใจ”