ศาลปกครองกลาง พิจารณาคดีโฮปเวลล์ใหม่ พิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้ ก.คมนาคม-รฟท. ชดใช้ค่าเสียหายโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) กว่า 1.1 หมื่นล้านบาท ชี้ การใช้สิทธิเรียกร้องของบริษัทขาดอายุความตามกฎหมาย
เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 66 ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการสั่งที่ให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด จากการบอกเลิกสัญญารวมเป็นเงิน 11,888.75 ล้านบาท ประกอบด้วยเงินค่าก่อสร้าง 9,000 ล้านบาท เงินค่าตอบแทนจากการใช้ประโยชน์ที่ดินที่บริษัทชำระไปแล้ว 2,850 ล้านบาท และเงินค่าออกหนังสือค้ำประกัน 38,749,800 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี และคืนหนังสือค้ำประกันมูลค่า 500 ล้านบาท โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับคดีถึงที่สุด หลังศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2565 มีคำสั่งให้ศาลปกครองชั้นต้นรับคำขอพิจารณาคดีใหม่
ศาลให้เหตุผลว่า การที่ บริษัท โฮปเวลล์ฯ ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 30 ม.ค. 41 จึงมีสิทธิที่จะเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการได้อย่างช้าที่สุดภายในวันที่ 30 ม.ค. 46 แต่ บริษัท โฮปเวลล์ฯ กลับยื่นคำเสนอข้อพิพาท เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 47 จึงพ้นระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่รู้ หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการเสนอข้อพิพาทตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ.2542 ที่แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวไป 1 ปี 9 เดือนเศษ สิทธิเรียกร้องของ บริษัท โฮปเวลล์ฯ จึงขาดอายุความตามกฎหมาย และโดยที่ปัญหาเรื่องอายุความในการใช้สิทธิเรียกร้องเป็นบทบัญญัติอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ในการพิพากษาคดี ศาลปกครองสามารถยกขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาได้ตามข้อ 92 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 การที่คณะอนุญาโตตุลาการรับข้อพิพาทที่ผู้คัดค้านยื่นพ้นเวลาไว้พิจารณา และมีคำชี้ขาดข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 ลงวันที่ 30 ก.ย. 51 จึงเป็นกรณีที่การยอมรับ หรือการบังคับตามคำชี้ขาดขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนที่ศาลปกครองมีอำนาจเพิกถอนและปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้ตามมาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข) และมาตรา 44 แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 จึงพิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 ลงวันที่ 30 กันยายน 2551 ทั้งหมด และเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 44/2550 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 70/2551 ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2551 ทั้งหมด และมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 ลงวันที่ 30 กันยายน 2551 กับให้คำสั่งศาลที่ให้งดการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดง ที่ อ.221-223/2562 ไว้ในระหว่างพิจารณาคดีใหม่มีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด หรือจนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
...
สำหรับคดีกล่าว เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2562 ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษาให้กระทรวงคมนาคม และ รฟท. ต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2551 โดย รฟท.ต้องคืนเงินชดเชยให้กับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด จากการบอกเลิกสัญญารวมเป็นเงิน 11,888.75 ล้านบาท ประกอบด้วยเงินค่าก่อสร้าง 9,000 ล้านบาท เงินค่าตอบแทนจากการใช้ประโยชน์ที่ดินที่บริษัทชำระไปแล้ว 2,850 ล้านบาท และเงินค่าออกหนังสือค้ำประกัน 38,749,800 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี และคืนหนังสือค้ำประกันมูลค่า 500 ล้านบาท โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับคดีถึงที่สุด จากนั้น กระทรวงคมนาคม กับ รฟท.ได้ยื่นขอให้มีการพิจารณาคดีใหม่ เนื่องจากเห็นว่า บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด การเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการขาดอายุความตามกฎหมายไปแล้ว และในวันที่ 4 มี.ค. 2562 ศาลปกครองสูงสุด โดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งให้รื้อฟื้นคดีตามคำร้องของกระทรวงคมนาคม และ รฟท. ก่อนที่วันนี้ ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตดังกล่าว เป็นผลให้ กระทรวงคมนาคม และ รฟท. ยังไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด จากการบอกเลิกสัญญารวมเป็นเงิน 11,888.75 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ยังสามารถยื่นอุทธรณ์ในคดีต่อศาลปกครองสูงสุดได้อีกภายใน 30 วัน.