การประชุมมอบนโยบายหน่วยงานในสังกัด กระทรวงการคลัง ของ นายกฯเศรษฐา ทวีสิน ในฐานะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สัปดาห์ก่อน นายกฯเศรษฐา ได้เน้นถึง วินัยการเงินการคลัง ว่า ต้องตอบสังคมให้ได้ว่า เอาเงินไปใช้อะไร ระยะยาวจะส่งผลต่อจีดีพีของประเทศและหนี้สาธารณะอย่างไร ขณะเดียวกัน นายกฯเศรษฐา ก็ยืนยันว่า จะทำนโยบายประชานิยม ที่หาเสียงไว้แน่นอน การแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทให้ประชาชน 56 ล้านคน ใช้เงิน 560,000 ล้านบาท แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะหาเงินมาจากไหน และ การพักหนี้เกษตรกรอีก 3 ปี ว่า ยังต้องพักต่อไปเรื่อยๆ หลังจากที่มีการพักหนี้มาแล้ว 13 ครั้ง ใน 9 ปี
หลังการประชุม ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ให้ความเห็นต่อผู้สื่อข่าว โดยแสดงข้อกังวลต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการพักหนี้ของรัฐบาล
ผู้ว่าการแบงก์ชาติ กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยตอนนี้ฟื้นต้วช้ากว่าที่อื่น โจทย์ก็คือ ทำให้นโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติทั้งฝั่งการเงินและการคลัง โดยให้ความสำคัญกับ “เสถียรภาพ” ตัวอย่างก็มี ประเทศสหรัฐฯที่ไม่ใส่ใจกับเสถียรภาพการคลังเพียงพอ ทำให้โดนลดเครดิตเรตติ้ง เสถียรภาพนี้ยังรวมถึง เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพของราคา เสถียรภาพของระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยได้แชร์ข้อกังวลต่างๆให้นายกฯฟัง แต่สุดท้ายการดำเนินนโยบายก็เป็นของฝ่ายการคลัง
ข้อกังวลที่ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ได้หารือกับ นายกฯเศรษฐา ก็คือ
1.บริบทเศรษฐกิจ ตัวเลขโดยรวมออกมาไม่สวย จีดีพีไตรมาส 2 ขยายตัวเพียง 1.8% ตํ่ากว่าที่คาด หากดูที่มาของการเติบโตของจีดีพีจะเห็นว่า มาจากการบริโภคที่ยังขยายตัวดีในไตรมาส 1 และ 2 ตัวที่ขาดไปก็คือ “การลงทุน” ที่ประเทศไทยไม่มีการลงทุนมานาน (ในช่วงลุงตู่อยู่ยาวมา 9 ปี) การฟื้นตัวเศรษฐกิจด้วยการลงทุนจึงสำคัญกว่าการบริโภค
...
2.เรื่อง การแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ควรทำแบบกำหนดเป้าหมาย เฉพาะเจาะจง ไม่ใช่แจกทุกคน น่าจะช่วยประหยัดงบประมาณ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่ต้องการเงิน 10,000 บาท
3.เรื่อง เสถียรภาพ การทำนโยบายต่างๆต้องแยกภาพระยะปานกลางให้ชัดเจน หากทำแบบนี้จะมีผลต่อการขาดดุลงบประมาณอย่างไร หรือฐานะการคลังในมิติต่างๆ ซึ่งเป็นการ สร้างความเชื่อมั่น หากย้อนดู ประเทศอังกฤษตอนที่ประกาศลดภาษีกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ไม่มีความชัดเจนเรื่องของงบประมาณ ทำให้เกิดปัญหาการขาดความเชื่อมั่น (เงินปอนด์ร่วงทันที 5%) ดังนั้น นโยบายจำเป็นต้องฉายภาพฐานะการคลังและผลต่างๆที่จะเกิดขึ้น การแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน บางคนบอกว่า จะเป็นรูปแบบ e-Money ซึ่งจะมีผลต่อเงินเฟ้อและฐานะการคลัง หากเป็น “สินทรัพย์ดิจิทัล” ก็เป็นสิ่งที่ แบงก์ชาติไม่สนับสนุนให้นำสินทรัพย์ดิจิทัลมาเป็นสื่อกลางในการชำระเงิน และขอยืนยันว่า เงินดิจิทัลของแบงก์ชาติ CBDC ไม่สามารถนำมาใช้กับนโยบายนี้ได้ เพราะยังเป็นโปรเจกต์เรียนรู้ และยังไม่พร้อมที่จะใช้ในวงเงินจำนวนมาก
เรื่องการพักหนี้เกษตรอีก 3 ปี ดร.เศรษฐพุฒิ ให้ความเห็นว่า ควรมีไว้ แต่ไม่ใช่เป็นเครื่องมือหลักที่จะใช้ และไม่คิดว่าการพักหนี้ในวงกว้างจะเหมาะสม ได้เสนอความเป็นห่วงเรื่องนี้กับรัฐบาลแล้ว จากที่พักหนี้มา 14 ครั้ง ในรอบ 8 ปี ผลที่ออกมามีลูกหนี้ 70% ที่พักหนี้กลับมีหนี้มากกว่าเดิม คนที่เข้าโครงการพักหนี้มีโอกาสเป็นหนี้เสียสูงค่อนข้างเยอะ
เสียงติงจาก ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ถึง นายกฯเศรษฐา คือ ความจริงที่เกิดขึ้นในช่วง 8-9 ปีที่ผ่านมา วันนี้ รัฐบาลยังติดหนี้ ธ.ก.ส.กว่า 1 ล้านล้านบาท จาก โครงการพักหนี้ และยังมีหนี้ โครงการประกันราคาข้าว อีกไม่รู้กี่แสนล้านบาท จนรัฐบาลมีหนี้ท่วมหัวกว่า 11 ล้านล้านบาท การแจกเงินยังสร้าง “เงินเฟ้อ” ตามมาอีก “นรกเงินเฟ้อ” เป็นอย่างไร ให้ดูข่าว อาร์เจนตินา เป็นตัวอย่าง เงินเฟ้อ 124% ข้าวปลาอาหารขึ้นราคาทุกนาที.
“ลม เปลี่ยนทิศ”
คลิกอ่านคอลัมน์ "หมายเหตุประเทศไทย" เพิ่มเติม