รองโฆษกไทยสร้างไทย แนะ รัฐบาลสอบถาม ข้าราชการให้รอบคอบ ดูผลดีผลเสียก่อน หลังนายกฯมีข้อสั่งการ แบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 รอบ หวั่น ซ้ำเติมระบบการผ่อนชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ และอาจสร้างหนี้เสียให้มากขึ้นทั้งระบบ 

วันที่ 14 กันยายน 2566 นายสรเทพ โรจน์พจนารัช รองโฆษก และหัวหน้าคณะทำงานด้านการท่องเที่ยว พรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการ แบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการเป็น 2 รอบว่า เรื่องบางเรื่อง อย่าคิดเร็วทำเร็วจนเกินไป เพราะอาจเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนได้ การที่รัฐบาลจะจ่ายเงินเดือนให้ข้าราชการโดยแบ่งเป็น 2 งวดต่อเดือนนั้น อยากถามว่า รัฐบาลได้ทำการสอบถามหรือสำรวจความต้องการจากข้าราชการแล้วหรือไม่ 

เพราะจะเกิดปัญหาต่างๆ มากมายทั้งตัวราชการเองและสร้างการทำงานซ้ำซ้อน 2 ครั้ง ให้แก่ คลังจังหวัดและหน่วยงานที่ทำจ่ายเงินเดือนอีก พร้อมระบุด้วยว่า รัฐบาลต้องรู้ถึงระบบการเงินในครอบครัวด้วยนอกเหนือจากระบบการเงินของประเทศเพราะ 

1. ทุกสิ้นเดือน ข้าราชการจะมีค่าใช้จ่ายประจำในครอบครัว เช่น ค่าไฟฟ้าซึ่งแพงมากในปัจจุบัน ค่าน้ำ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่ามือถือ บัตรเครดิต และอื่นๆ

2. ค่าผ่อนชำระต่างๆ เช่นบ้าน รถ และอื่นๆ ที่เกิดกับไฟแนนซ์หรือแบงก์ของเอกชน ซึ่งเขาคงไม่ยอมให้ แบ่งจ่าย 2 งวดเหมือนเงินเดือนข้าราชการแน่ๆ และที่สำคัญ เพราะวัฒนธรรมในการปล่อยกู้ให้ข้าราชการแบบง่ายๆ โดยไม่คำนึงถึงภาระการชำระกับฐานเงินเดือนมาช้านาน รวมถึงการทำสัญญาให้หักเงินผ่อนหน้าซองอีกต่างหาก 

3. เงินกู้ยืมต่างๆ ที่ผูกกับ สหกรณ์ หรือ หน่วยงานที่ ตัดจ่ายหน้าซองอีก ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของระบบหนี้ของข้าราชการ แล้วจะพอตัดหรือไม่ ต้องเสียดอกผิดนัดชำระหรือไม่ หรือตัดแล้ว จะมีเงินเหลือให้ใช้อย่างอื่นในช่วงครึ่งเดือนแรกหรือไม่

...

4. หนี้บัตรเครดิตที่ถือคนละหลายใบรวมถึงเงินกู้จาก Non Bank อีก ซึ่งเป็นของเอกชนทั้งหมด เขาสามารถให้แบ่งชำระเป็น 2 งวดแบบไม่เสียดอกเบี้ยเพิ่มได้หรือไม่

5. เงินสดที่จะต้องใช้จ่ายในครึ่งเดือนแรก จะมีเหลือหรือไม่ หรือกลายเป็นการสร้างปัญหาให้กับครอบครัวข้าราชการเพิ่มมากกว่าการช่วยเหลือตามที่บอกมา และผลจากการจ่ายเงินเดือน 2 ครั้งต่อเดือน คุ้มค่ากับภาระงานด้านธุรการ ที่เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าหรือไม่ 

หากรัฐยังยืนยันที่จะทำจริงโดยไม่สอบถามข้าราชการก่อน สุดท้าย อาจจะเป็นการสร้างปัญหาให้เกิดหนี้นอกระบบและหนี้เสีย เพิ่มตามมา รวมถึง การสร้างวินัยทางการเงินแบบผิดๆให้กับข้าราชการอีกด้วย จึงขอให้คิดทบทวนและทำแบบสอบถามข้าราชการให้แน่ใจก่อนตัดสินใจทำจะดีกว่า