มติ ครม. 13 กันยายน 2566 เห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 67-70) ฉบับทบทวน มุ่งเน้นควบคุมการขาดดุลงบประมาณต่อ GDP ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม สอดคล้องสถานการณ์ สร้างความเข้มแข็งสู่ความยั่งยืน
วันที่ 13 กันยายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2567-2570) ฉบับทบทวน ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เสนอ เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาจัดทำกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ และเพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้ประกอบการพิจารณาในการจัดเก็บหรือหารายได้ การจัดทำงบประมาณ และการก่อหนี้ของหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ต่อไป
สำหรับสาระสำคัญของแผนการคลังระยะปานกลางฯ ประกอบด้วย 3 ส่วน โดยมีสาระสำคัญสรุป ได้แก่
1. สถานะและประมาณการเศรษฐกิจ ในปี 2567
คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.2 และ GDP Deflator อยู่ที่ร้อยละ 1.8 สำหรับปี 2568 คาดว่า GDP จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.6 และขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.4 ในปี 2569-2570 ในส่วนของ GDP Deflator ในปี 2568-2570 อยู่ที่ร้อยละ 2.0
2. สถานะและการประมาณการการคลัง
2.1 ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2567-2570 เท่ากับ 2,787,000 / 2,899,000 / 2,985,000 และ 3,074,000 ล้านบาท ตามลำดับ
2.2 ประมาณการงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2567-2570 เท่ากับ 3,480,000 / 3,591,000 / 3,706,000 และ 3,825,000 ล้านบาท ตามลำดับ
2.3 จากประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิและงบประมาณรายจ่ายดังกล่าวในปีงบประมาณ 2567-2570 รัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณจำนวน 693,000 692,000 721,000 และ 751,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.63 3.43 3.40 และ 3.36 ต่อ GDP ตามลำดับ
...
2.4 ประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สำหรับปีงบประมาณ 2567-2570 เท่ากับร้อยละ 64.00 / 64.65 / 64.93 และ 64.81 ตามลำดับ
3. เป้าหมายและนโยบายการคลัง
การดำเนินนโยบายการคลังในระยะปานกลางยังมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัวผ่านการจัดทำงบประมาณรายจ่ายแบบขาดดุล เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันจะมุ่งเน้นการเสริมสร้างความเข้มแข็งและการมีภูมิคุ้มกันของภาคการคลัง เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนทางการคลังในอนาคต โดยยึดหลัก “Sound Strong Sustained” ที่มุ่งเน้นการดำเนินนโยบายการคลังที่สมเหตุสมผล สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริง
รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการคลังในทุกด้าน ทั้งในส่วนของการฟื้นฟูการจัดเก็บรายได้ การจัดสรรงบประมาณรายจ่าย และการบริหารจัดการหนี้สาธารณะ เพื่อบริหารจัดการพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม สามารถรองรับการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล และคำนึงถึงการรักษาระดับเครื่องชี้ทางการคลังให้อยู่ภายใต้กรอบวินัยการคลัง (Fiscal Discipline) เพื่อมุ่งสู่ภาคการคลังที่ยั่งยืนและมีศักยภาพในการรองรับความเสี่ยงที่ประเทศอาจต้องเผชิญอีกในอนาคต
สำหรับเป้าหมายของแผนการคลังระยะปานกลางฉบับนี้ จะมุ่งเน้นการควบคุมขนาดการขาดดุลงบประมาณต่อ GDP ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและการคลังที่เปลี่ยนแปลงไป และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในระยะปานกลาง เพื่อมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในระยะเวลาที่เหมาะสม โดยมีประมาณการสถานะการคลังในระยะปานกลางภายใต้สมมติฐานทางเศรษฐกิจ ณ ปัจจุบัน ดังภาพประกอบ
ทั้งนี้ ในระยะยาวหากภาวะเศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ ภาครัฐสามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการคลังทั้งทางด้านรายได้ รายจ่าย และหนี้สาธารณะได้ เป้าหมายการคลังในระยะยาวจะกำหนดให้รัฐบาลมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในระยะเวลาที่เหมาะสม.