“รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย” เป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงมาข้ามทศวรรษตั้งแต่สมัย รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งแถลงเป็นนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อ 23 สิงหาคม 2554 “เร่งรัดโครงการรถไฟฟ้า 10 สายในกรุงเทพฯและปริมณฑล ให้สามารถเริ่มก่อสร้างได้ครบภายใน 4 ปี และเก็บค่าบริการ 20 บาทตลอดสายทั้งระบบ รวมทั้งเร่งพัฒนาระบบตั๋วร่วมบัตรเดียว” จากวันนั้นถึงวันนี้ 12 ปีแล้ว พรรคเพื่อไทยยังทำไม่ได้ แม้จะหาเสียงซ้ำกับคนกรุงเทพฯและปริมณฑล เป็นนโยบายเร่งด่วนที่จะทำทันที แต่กลับไม่บรรจุไว้ในนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีคมนาคม ก็ให้สัมภาษณ์แบบบ่ายเบี่ยง ต้องใช้เวลา คิดว่าไม่น่าจะเกิน 2 ปี ต้องเจรจากับบีทีเอส ซึ่งยังไม่เข้าระบบตั๋วร่วม เรื่องแบบนี้ต้องใช้เวลา

เมื่อถูก สส.พรรคก้าวไกล อภิปรายถล่มในสภา รัฐมนตรีสุริยะ ก็กลับคำพูดทันทีว่า นโยบายนี้จะเริ่มทำทันที ก็ไม่รู้จะเชื่อถือคำพูดได้หรือไม่

ความจริงรถไฟฟ้าหลายสายใน กทม. สายที่เป็นเส้นเลือดใหญ่มีผู้โดยสารมากที่สุด ก็คือ สายสีเขียว หรือ รถไฟฟ้าบีทีเอส ระยะทาง 59 กม. เชื่อม 3 จังหวัด ปทุมธานี กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ซึ่งยังไม่ยอมเข้าร่วม “ระบบตั๋วร่วมของ รฟม.” เรื่องนี้ รัฐมนตรีสุริยะ  ก็รู้เรื่องดีทุกอย่าง  แต่กลับตอบในสภาว่า ขั้นตอนการเจรจาอาจต้องใช้เวลา 6 เดือน จากนั้น 20 บาทตลอดสายจะทำได้ทันที ทั้งที่ได้มีการเจรจามาหลายปีแล้ว ก็ต้องรอดูอีกครั้งว่า คำพูดของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีคมนาคมพรรคเพื่อไทย จะเชื่อถือได้หรือไม่ รออีก 6 เดือนยังดีกว่ารอ 2 ปีโดยไม่มีความหวังใดๆ

ก็ต้องฝาก พรรคก้าวไกล คอยตามกระทุ้ง รัฐมนตรีสุริยะ เป็นระยะด้วย

ในเบื้องต้น รัฐมนตรีสุริยะ ให้สัญญาใหม่ว่า จะปรับราคา รถไฟฟ้าสายสีแดง และ สายสีม่วง ลงมาเป็น 20 บาทตลอดเส้นทาง โดยจะเร่งผลักดันภายใน 3 เดือนให้เป็นของขวัญปีใหม่แก่ประชาชน คำพูดของ รัฐมนตรีสุริยะ ครั้งใหม่นี้จะเชื่อถือได้หรือไม่ อีก 3 เดือนได้รู้กัน ความจริงรถไฟฟ้าสองสายนี้เป็นของรัฐ ลงทุนด้วยเงินภาษีของประชาชน รัฐบาลสามารถสั่งให้ลดราคาได้ทันที โดยไม่ต้องรอไปอีก 3 เดือนด้วยซ้ำ สายสีแดง ตลิ่งชัน-รังสิต ค่าโดยสาร 14-42 บาท สายสีม่วง บางซื่อ-คลองใหญ่ 14-42 บาท รถไฟฟ้าสองสายนี้มีผู้โดยสารน้อยมากแต่ลงทุนก่อสร้างแพงมาก

...

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์  รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นักวิชาการด้านวิศวกรรมขนส่งให้ความเห็นว่า รถไฟฟ้าปัจจุบันเปิดมาแล้ว 7 เส้นทาง ระยะทางกว่า 200 กม. แต่ยังมีผู้ใช้บริการน้อยมาก  วันละประมาณ 1.5 ล้านเที่ยวต่อวันเท่านั้น ถ้าคิดเป็นจำนวนผู้โดยสารก็อยู่ที่ประมาณวันละ 75,000 คน ถือว่าน้อยมาก ไม่คุ้มค่าการลงทุนการก่อสร้างเลย ต้องทำให้มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างน้อยเป็นวันละ 3 ล้านเที่ยว หรือประมาณ 1.5 ล้านคนต่อวัน

ดร.สามารถ ระบุว่า ปัจจัยที่ทำให้คนใช้บริการรถไฟฟ้าน้อย ปัจจัยแรกคือ ค่าโดยสารแพง  ปัจจัยที่สองคือ บางเส้นทางมีคนอยู่อาศัยน้อยมาก  ความจริงรถไฟฟ้าเป็น “ระบบขนส่งมวลชน” ต้องสร้างผ่านย่านที่มีคนอยู่อาศัยหนาแน่น แต่รถไฟฟ้าเมืองไทย สร้างผ่านที่ดินรกร้าง แต่มีเจ้าสัวเป็นเจ้าของ   ผู้โดยสารจึงน้อย แต่มีคนได้มหาศาล

ผมเคยเขียนติงไปหลายครั้ง การสร้างรถไฟฟ้าบนถนนสายหลัก เช่น พหลโยธิน สุขุมวิท ลาดพร้าว ฯลฯ ซึ่งมีซอยลึกมากมาย ไม่ช่วยแก้ปัญหาการเดินทางของประชาชน ต้องสร้างเป็นรถไฟใต้ดินตัดกันเป็นตารางให้ทั่วถึง ให้ประชาชนเข้าถึงรถไฟฟ้ามากที่สุด การสร้างรถไฟฟ้าบนถนน คนอยู่ในซอยก็ยังต้องอาศัยวินมอเตอร์ไซค์ออกจากบ้านหลายกิโลไปสู่ถนนเช่นเดิม เพื่อขึ้นรถไฟฟ้าแทนรถเมล์  คนมีฐานะหน่อยก็ซื้อรถยนต์ใช้เอง คนที่ได้ประโยชน์คือเจ้าของที่ดินสองข้างทางรถไฟฟ้าที่ราคาพุ่งขึ้นตารางวาละ 2–3 ล้านบาท จากเดิมไม่กี่แสน

เรื่องแบบนี้ ถ้าไม่มีการเมืองหนุนหลังคงทำไม่ได้แน่นอน แต่รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ผมเชื่อว่าทำได้จริง ถ้าทำด้วยความโปร่งใส ไม่มีผลประโยชน์ซ่อนเร้น.

“ลม เปลี่ยนทิศ”

คลิกอ่านคอลัมน์ "หมายเหตุประเทศไทย" เพิ่มเติม