จับตา "ทักษิณ" รักษาตัว รพ.ตำรวจ ต่อหรือไม่ หลังใกล้ครบ 30 วัน อธิบดีราชทัณฑ์-แพทย์ใหญ่ เตรียมหารือ "ให้นอนต่อ" หรือ "ส่งกลับเรือนจำ" พร้อมพ่วงพิจารณาความเห็นแพทย์ 

กรณี นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งคำถามผ่านบัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุเนื้อหาสาระเกี่ยวกับ ระยะเวลาการรักษาตัวนอกเรือนจำของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตามกฎกระทรวงยุติธรรม เรื่อง การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ลงนามโดย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ขณะนั้น พร้อมระบุว่า หากมีการรักษาตัวนอกเรือนจำนานกว่า 30 วัน จะต้องมีความเห็นจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์และแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ หากนานกว่า 60 วัน จะต้องมีความเห็นจากปลัดกระทรวงยุติธรรม และหากนานเกิน 120 วัน จะต้องมีความเห็นจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมทั้งขอให้มีการแถลงรายละเอียดต่อสาธารณชนเพื่อคลายข้อสงสัยว่ามีการเลือกปฏิบัติต่อนายทักษิณ หรือไม่

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 5 กันยายน 2566 ผู้สื่อข่าวรับการเปิดเผยจากแหล่งข่าวระดับสูงภายในกระทรวงยุติธรรม ว่า สำหรับอาการเจ็บป่วยของผู้ต้องขังตลอดห้วงระยะเวลาการนอนพักรักษาตัว จะมีความทุเลาดีขึ้นหรืออาการทรงตัวอย่างไร จะเป็นดุลพินิจของนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจที่จะต้องรายงานแจ้งมายังอธิบดีกรมราชทัณฑ์เพื่ออธิบดีมีความคิดเห็น พิจารณาอนุมัติว่าจะให้รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจต่อเนื่อง หรือพิจารณาอนุมัติให้ย้ายกลับมารักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ณ เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 

ดังนั้น ในกรณีที่นายทักษิณจะมีการรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจนานกว่า 30 วันนั้น แพทย์ที่เป็นผู้รักษาจะต้องรายงานอาการความเจ็บป่วยและความคิดเห็นของแพทย์ไปยังอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เพื่อพิจารณาอนุมัติตามขั้นตอน และถ้าหากจะมีการรักษานานกว่า 60 วัน จะต้องมีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดี พร้อมกับความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องและรายงานปลัดกระทรวงยุติธรรมรับทราบ ส่วนถ้าจะมีการรักษานานกว่า 120 วัน จะต้องมีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดี พร้อมกับความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องและรายงานรัฐมนตรีฯ ทราบ

...

แหล่งข่าว ระบุอีกว่า เมื่อใกล้ครบกำหนดระยะเวลาการนอนพักรักษาตัว 30 วัน ตามหลักการแล้วอธิบดีกรมราชทัณฑ์ หรือตัวแทนราชทัณฑ์จะต้องมีการประชุมหารือร่วมกับทีมแพทย์ รพ.ตำรวจ ผู้ทำการรักษา เพื่อมีความเห็นร่วมกันว่าจะอนุมัติให้ยังคงรักษาตัวที่เดิมหรือไม่ อย่างไร และเมื่อถามว่าหากต้องมีการรักษานานเกินกว่า 30 วันมีแนวโน้มที่นายทักษิณจะย้ายไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชน จะมีเครื่องมือทางการแพทย์และแพทย์เฉพาะทางเหมาะสมต่อการรักษาหรือไม่ แหล่งข่าว เผยว่า หากโรงพยาบาลที่ได้ลงนาม MOU กับราชทัณฑ์ (หรือ รพ.แม่ข่าย) ยังคงมีศักยภาพในการรักษาก็ยังจะต้องเป็นโรงพยาบาลของรัฐต่อไป แต่ถ้าหากโรงพยาบาลของรัฐที่ลงนามอยู่นั้น ไม่มีเครื่องมือพร้อมในส่วนอื่นใดก็อาจจะมีความจำเป็นต้องพิจารณาย้ายไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนแทนได้ แต่เท่าที่ตนรับทราบ ยังไม่มีแนวโน้มย้ายนายทักษิณไปรักษาตัวที่โรงบาลแห่งอื่น

แหล่งข่าว ระบุถึงโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษเนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป ว่า ปกติแล้วในเวลา 1 ปี ทางราชทัณฑ์จะมีโครงการอยู่แล้ว เรือนจำจะมีการสำรวจรายชื่อของผู้ต้องขังแล้วก็มีการจัดทำบัญชีรายชื่อ เพื่อแจ้งผู้ต้องขังหากเข้าเกณฑ์ก็ให้ดำเนินการยื่นเอกสารมาทางเรือนจำฯ และที่สำคัญจะต้องมีการรับรองเนื้อหาเอกสารการเจ็บป่วยด้วย อย่างไรก็ตาม ตามเกณฑ์จะต้องมีการรับโทษจำคุกแล้วหนึ่งในสามหรือไม่น้อยกว่า 6 เดือน แต่ในกรณีของนายทักษิณนั้น เข้ามารับโทษจำคุกเพียง 1 ปี หากจำนวนหนึ่งในสามก็เท่ากับ 4 เดือน นายทักษิณจะต้องรับโทษจำคุกไม่น้อยกว่า 6 เดือนก่อน จึงจะเข้าเกณฑ์ยื่นขอเข้าโครงการพักการลงโทษได้ แต่ถ้าหากมีการพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไปในวาระโอกาสสำคัญ จะเป็นอีกกรณีหนึ่ง