"ทนายวิญญัติ" เผย "ทักษิณ" ยังอ่อนเพลีย รับ ศึกษากฎกระทรวงออกตาม พ.ร.บ.ของราชทัณฑ์ 2560 ประเด็น พักโทษ พร้อมใช้สิทธิ แย้ม หากเข้าเกณฑ์คุมประพฤติ ประสงค์ไม่ติดกำไล EM ส่วน "การขออภัยโทษครั้งที่สอง" คาด ครอบครัวดำเนินการ เล็ง วาระโอกาสสำคัญ ชี้ เป็นสิทธิผู้ต้องขัง 

เมื่อวันที่ 1 ก.ย. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชทานอภัยลดโทษ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จากทั้งหมด 8 ปี เหลือเพียง 1 ปี เพื่อจะได้ใช้ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ ช่วยเหลือและทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป อีกทั้งในกรณีอดีตนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ต้องขังสูงวัย พร้อมกับมีอาการเจ็บป่วย 4 โรคเรื้อรัง และยังอยู่ระหว่างการนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ เป็นเหตุให้อาจเข้าข่ายเกณฑ์ผู้ต้องขังสูงวัย ที่จะได้รับการพิจารณาพักการลงโทษ ตามที่มีการนำเสนอข่าวไปอย่างต่อเนื่องนั้น

ความคืบหน้าเมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 4 ก.ย. ทนายวิญญัติ ชาติมนตรี (ทนายความประจำตัวของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า สำหรับการเดินทางเข้าเยี่ยมในวันนี้ของสมาชิกครอบครัวนายทักษิณ ตนยังไม่ได้รับรายงานว่า ท่านใดจะเดินทางเข้ามาบ้างหรือไม่ แต่ในช่วงบ่ายวันนี้ตนจะเข้าไปพบ นายทักษิณ เพื่อพูดคุยเรื่องคดีความคงค้างและเรื่องอื่นๆ ส่วนการเยี่ยมผ่านรูปแบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ของญาติท่านอื่นๆ ตนยังไม่ได้รับแจ้งเช่นกัน อีกทั้งตลอดการเข้าพบพูดคุยกับ คุณทักษิณ ท่านยังคงมีอาการอ่อนเพลียบ้าง แต่ยังพูดคุยตอบโต้ได้ ไม่ถึงขนาดมีอาการเหนื่อยหอบ ส่วนเรื่องอาการของโรคหัวใจหรือโรคอื่นๆ รวมถึงการรักษาพยาบาล ยังคงอยู่ในการประเมินวินิจฉัยของทีมแพทย์ รพ.ตำรวจ และทางเรือนจำฯ วันต่อวัน ณ เวลานี้จึงยังไม่มีแนวโน้มว่า อาการเจ็บป่วยของ คุณทักษิณ ดีขึ้นหรืออย่างไร ถึงจะได้รับการพิจารณาจากแพทย์ เพื่อส่งกลับไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ตนไม่สามารถยืนยันในส่วนนี้ได้

...

เมื่อถามถึงเรื่องความเป็นไปได้ของ นายทักษิณ กรณีอาจได้รับการพิจารณาพักการลงโทษ เนื่องจากเป็นผู้ต้องขังสูงวัย และมีอาการเจ็บป่วยนั้น ทนายวิญญัติ ระบุว่า ตลอดห้วงเวลาที่ผ่านมา พบว่ามีความคิดเห็นหลากหลายของบุคคลในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพูดถึงประเด็นนี้ แต่อย่างไรกระทรวงยุติธรรมและกรมราชทัณฑ์จะต้องมีการพิจารณาว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน และเข้าเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 หรือกฎกระทรวงของราชทัณฑ์หรือไม่ และถึงจะเข้าเกณฑ์ก็ต้องดูอีกว่ามีแนวทางปฏิบัติอย่างไร เพื่อไม่ให้ผิดหรือขัดต่อระเบียบที่มีการกำหนดไว้ ดังนั้น ทุกอย่างเป็นสิทธิของผู้ต้องขัง หากราชทัณฑ์พิจารณาจากหลักเกณฑ์แล้วเห็นว่า คุณทักษิณ เป็นหนึ่งในบรรดาผู้ต้องขังที่มีคุณสมบัติครบถ้วน จะมีการแจ้งสิทธิให้ผู้ต้องขังรับทราบ ส่วนการจะใช้สิทธิดังกล่าวนี้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับ นายทักษิณ เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดในเรื่องนี้ยังไม่มีข้อยุติใดๆ เป็นเพียงการคาดการณ์และความคิดเห็นของคนในสังคมเท่านั้น อีกทั้งเรือนจำฯ ก็ยังไม่ได้มีการแจ้งเรื่องการพักการลงโทษมายังตนหรือ นายทักษิณ แต่เราทราบว่ามีเกณฑ์นี้อยู่ ท้ายสุดเรื่องนี้ก็เป็นอำนาจของกรมราชทัณฑ์และกระทรวงยุติธรรมที่จะดำเนินการ

ทนายวิญญัติ ระบุอีกว่า ยอมรับว่า กรณีของ นายทักษิณ มีหลายช่องทางที่เป็นไปได้ ทั้งเรื่องอาจเข้าเกณฑ์ได้รับการพักการลงโทษ หรือเรื่องคุมประพฤติ (การติดกำไล EM) แต่จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ใดก็ขึ้นอยู่กับกรมราชทัณฑ์ที่จะพิจารณาความเป็นไปได้ เพราะหน่วยงานก็ดำเนินไปตามระเบียบกฎหมายกำหนดไว้ แต่เราในฐานะทนายความก็ต้องไปศึกษาทั้งหมด ทั้งกฎระเบียบเก่า กฎกระทรวงที่ได้รับการแก้ไขเพิ่มเติม หรือกฎกระทรวงเดิม นอกจากนี้ ในเรื่องการติดหรือไม่ติดกำไล EM มันมีโอกาสได้ทั้งหมด เนื่องจากจะมีหลักเกณฑ์ รวมถึงข้อยกเว้นอยู่ อยู่ที่ว่าจะเข้าหลักเกณฑ์หรือข้อยกเว้นหรือไม่ หากมีข้อยกเว้นให้สามารถดำเนินการได้ ตนในฐานะทนายความก็ต้องดำเนินการเพื่อลูกความ ถือเป็นสิทธิประโยชน์ของผู้ต้องขัง

เมื่อถามว่า ในส่วนของบ้านพักผู้มีอุปการะคุณ หาก นายทักษิณ เข้าเกณฑ์ได้รับการพักการลงโทษ จะเป็นสถานที่ใด สามารถเป็นบ้านพัก (ที่อยู่ปัจจุบัน) หรือไม่ ทนายวิญญัติ ระบุว่า หาก นายทักษิณ ได้รับการพักการลงโทษจริง ตนไม่สามารถให้ข้อมูลในส่วนนี้ได้ เพราะเป็นเรื่องที่ นายทักษิณ จะต้องมีการพูดคุยกับครอบครัว และร่วมกันพิจารณาตัดสินใจถึงความเหมาะสม แต่อยากให้รออีกสักระยะหนึ่งคงจะได้ทราบความชัดเจนกัน

ส่วนข้อถามว่า นายทักษิณ หรือครอบครัวจะมีการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษสำหรับวาระโอกาสสำคัญ หลังจากนี้หรือไม่ เช่น วันที่ 13 ต.ค. หรือ 5 ธ.ค. หรือว่าการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษรายบุคคลครั้งที่ผ่านมา และมีการอภัยลดโทษ ถือเป็นพระราชอำนาจเด็ดขาดแล้ว ทนายวิญญัติ กล่าวว่า ต้องเรียนว่าการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษที่ผ่านมา และ นายทักษิณ ได้รับการอภัยลดโทษ ตรงนี้ก็ถือว่าเป็นที่สิ้นสุดแล้วในครั้งนั้น ตนมองว่าเป็นรายครั้งมากกว่า ส่วนในครั้งถัดไป หากมีวาระโอกาสสำคัญหรือวันสำคัญ นายทักษิณ ก็มีสิทธิได้รับประโยชน์หรือมีผลเป็นคุณต่อตัวเองได้ในฐานะที่เป็นผู้ต้องขังทั่วไป แต่ก็ต้องดูว่าขณะนี้ คุณทักษิณ จัดว่าเป็นผู้ต้องขังชั้นใดหรืออยู่ในหลักเกณฑ์ใด อีกทั้งยังต้องไปดูในส่วนของพระราชกฤษฎีกา ที่ถ้าหากมีการประกาศออกมานั้น จะมีการระบุหมายเหตุ ข้อยกเว้นหรือสาระเนื้อหาแนบท้ายส่วนได้หรือไม่

"การพระราชทานอภัยโทษในครั้งถัดไปนั้น ต้องมองว่าเป็นการไม่เลือกปฏิบัติของราชทัณฑ์ หากผู้ต้องขังรายใดที่เข้าเกณฑ์ ราชทัณฑ์จะมีการแจ้งหรือดำเนินการไว้อยู่แล้ว เพราะว่าทางเรือนจำ ทัณฑสถาน จะต้องมีการสำรวจจำนวนผู้ต้องขังที่เข้าเกณฑ์หรือว่า มีผู้ต้องขังรายใดเหลือวันต้องโทษจำคุกกี่วัน เพื่อดูว่าใครจะได้รับประโยชน์ตรงนี้บ้าง ไม่ใช่แค่ในกรณีของ นายทักษิณ อย่างเดียว ทั้งนี้ ณ เวลานี้ ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องใดๆ ทุกอย่างเป็นไปตามวาระการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสิ้น" ทนายวิญญัติ กล่าว

นอกจากนี้ ทนายวิญญัติ ระบุด้วยว่า สำหรับการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษครั้งถัดไป คาดว่าจะมีการพูดคุยกันภายในครอบครัวของ นายทักษิณ เอง ตนจะไม่ได้รับทราบข้อมูลในส่วนนี้ หรือครอบครัวอาจจะเป็นผู้ดำเนินการประสานกับเรือนจำทัณฑสถานได้เลย เพราะว่าหน้าที่หลักของตน คือ การรับผิดชอบในส่วนของคดีความที่เหลือตามที่ได้รับมอบหมาย จึงไม่สามารถยืนยันข้อมูลได้ ส่วนเรื่อง 10 รายชื่อใหม่ที่ นายทักษิณ จะต้องมีการระบุว่า อนุญาตให้ใครเข้าเยี่ยมบ้างนั้น ขณะนี้ยังไม่ครบกรอบกำหนดเวลา 30 วัน เพราะใกล้ๆ วัน เรือนจำฯ จะมีการสำรวจแจ้งมา คาดว่าจะมีการดำเนินการเรื่อง 10 รายชื่อชุดใหม่ ประมาณวันที่ 29 ก.ย.นี้ ส่วนถ้า นายทักษิณ จะมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขรายชื่อทั้งหมด หรือปรับเปลี่ยนรายชื่อเพียงบางส่วนนั้น ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ นายทักษิณ เอง.