ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับ “การทุจริตคอร์รัปชัน” ฝังรากลึกแทรกซึมอยู่ทุกซอกหลืบในสังคมทั้งกลุ่มนักการเมือง ข้าราชการ และนักธุรกิจที่นับวันปัญหาจะปรากฏเป็นข่าวอื้อฉาวให้เห็นบ่อยขึ้น

แล้วการคอร์รัปชันนี้ก็มีตั้งแต่ “ระดับเล็กๆ” เรียกรับสินบนจากผู้ติดต่อในส่วนราชการ “ระดับกลาง” กรณีคนติดต่อส่วนราชการในระดับธุรกิจก็มักถูกเรียกเงินใต้โต๊ะแลกกับการอนุมัติมากขึ้น “คอร์รัปชันขนาดใหญ่” เป็นรูปแบบลักษณะการใช้อำนาจหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว หรือให้พวกพ้องของตัวเองได้เปรียบคนอื่น

อย่างกรณี “ข้าราชการระดับสูงในกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช” ที่เรียกรับเงินสินบนค่าซื้อตำแหน่งจากผู้ใต้บังคับบัญชาทั่วประเทศ ก่อนถูกตำรวจ ป.ป.ป. และ ป.ป.ช. วางแผนจับกุมพร้อมของกลางเป็นเงินสดจำนวนหนึ่ง ซองเขียนจ่าหน้าจากหน่วยงานในสังกัด และบัญชีรายชื่อการจ่ายเงิน

ทั้งที่ก่อนหน้านั้น ป.ป.ช.เคยให้กรมอุทยานฯได้เกรด Aในการประเมินไอทีเอ (Integrity and Transparency Assessment : ITA) มีคะแนนการป้องกันการทุจริต 100 เต็ม 4 ปีซ้อน จนถูกตั้งคำถามหนาหูถึง ป.ป.ช.ใช้หลักเกณฑ์อะไรประเมิน...? “สกู๊ปหน้า 1” มีโอกาสได้ร่วมงานแถลงข่าวการประกาศผลประเมินไอทีเอประจำปี 2566

...

จริงๆแล้ว “ไอทีเอ” เป็นเครื่องมือที่ ป.ป.ช.พัฒนาขึ้นมาเป็นกลไกในการประเมินการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ “มุ่งพัฒนาระบบราชการไทยในเชิงสร้างสรรค์มากกว่ามุ่งจับผิด” เสมือนเป็นเครื่องมือตรวจสุขภาพองค์กรประจำปี เพื่อให้รู้ช่องว่างความไม่เป็นธรรมและความไม่โปร่งใสนั้น

อันจะนำไปสู่การป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบในระบบราชการไทย ไม่เท่านั้นไอทีเอยังมีการประเมินประสิทธิภาพ “การให้บริการแก่ประชาชน” เพื่อให้รับรู้ถึงสถานะ และปัญหาการทำงานที่เกิดขึ้นด้วย

พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ
พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ

ดังนั้นไอทีเอจะช่วยให้หน่วยงานภาครัฐสามารถนำไปใช้ปรับปรุงพัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานให้บริการตอบสนองต่อประชาชนเป็นการยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานภาครัฐนั้น พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. บอกว่า ครั้งนี้เป็นปีที่ 11 มีการประเมินมาตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-30 มิ.ย.2566

แล้วปีนี้ “มีหน่วยงานรัฐทั่วประเทศเข้าร่วมประเมิน 8,323 หน่วยงาน” เก็บข้อมูลตัวอย่าง 1 ล้านกว่าคน แบ่งเป็นบุคลากรหน่วยงานรัฐ 4.2 แสนคน ใช้เครื่องมือแบบวัดไอไอทีประเมิน 5 ตัวชี้วัดคือ

ตัวชี้วัดที่ 1.การปฏิบัติหน้าที่ 2.การใช้งบประมาณ 3.การใช้อำนาจ4. การใช้ทรัพย์สินของราชการ 5.การแก้ไขปัญหาการทุจริต แล้วคะแนนจะคิดเป็น 30 คะแนน จาก 100 คะแนน และผู้ตอบต้องยืนยันตัวตนผ่านOTPระบุ Code ของหน่วยงานให้ถูกต้อง เพื่อป้องกันการนำบัตร ปชช.มาลงแทน

ถัดมาคือ “ประชาชนผู้บริการ 5.8 แสนคน” เก็บตัวอย่างด้วยเครื่องมือวัดอีไอที 3 ตัวชี้วัด คือ ตัวชี้วัดที่ 6.คุณภาพการดำเนินงาน ตัวชี้วัดที่ 7.ประสิทธิภาพการสื่อสาร ตัวชี้วัดที่ 8.ปรับปรุงระบบการทำงาน สุดท้ายประเมินจากการเปิดเผยข้อมูลภายในแบบโอไอที เช่น การเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง ข้อมูลโครงสร้างองค์กร

ก่อนปรากฏผลหน่วยงานได้คะแนนสูงกว่า 95 คะแนน 674 หน่วยงาน เช่น สนง.ศาลปกครองได้ 97.74 คะแนน กรมการปกครอง 99.03 คะแนน และกลุ่มรัฐวิสาหกิจ เช่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ 99.35 คะแนน

กลุ่มส่วนภูมิภาค เช่น จ.แพร่ 99.72 คะแนน อบจ.ยโสธร 99.43 คะแนน เทศบาลเมืองบางระจัน จ.สิงห์บุรี 99.63 คะแนน เทศบาลตำบลตะกุด อ.เมืองสระบุรี 99.81 คะแนน อบต.ลาดกระทิง อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา อบต.โคกเจริญ อ.ทับปุด จ.พังงา 99.79 คะแนน

ในแง่ภาพรวมระดับประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ 90.19 คะแนน มีแนวโน้มดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว 2.62 คะแนน ส่วนคะแนนสูงกว่า 85 คะแนน 2,550 หน่วยงาน และคะแนน 85 คะแนนผ่านบางเครื่องมือ 3,513 หน่วยงาน ฉะนั้นถ้าพิจารณาสัดส่วนหน่วยงานรัฐที่ได้ 85 คะแนนผ่านขึ้นไป 6,737 หน่วยงาน คิดเป็น80.94% ดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว 10.42%

แต่ยังไม่บรรลุเป้าหมายตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติในปี 2566-2570 ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ กำหนดให้หน่วยงานรัฐมีผล 85 คะแนน ระดับผ่านขึ้นไปไม่น้อยกว่า 100%

ทว่าสิ่งนี้เป็นเสมือนเปิดโอกาสให้ “ประชาชน และบุคลากรที่ปฏิบัติงาน” สะท้อนบอกช่องว่างของความไม่เป็นธรรม และความด้อยประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐผ่าน “ผลไอทีเอ” อันจะกลายเป็นตัวผลักดันให้ “รัฐบาล” สนับสนุนพัฒนาให้หน่วยงานนั้นตอบสนองการบริการแก่ประชาชนได้ตรงจุดดีขึ้น

โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นขนาดเล็ก “มักมีข้อจำกัดความไม่พร้อมของงบประมาณ และบุคลากร” แต่ว่าจากนี้คะแนนไอทีเอจะเป็นตัวส่งเสริมให้หน่วยงานต้นสังกัดเข้าไปดูแลจุดอ่อนนั้นตามมา

เช่นเดียวกับ นิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.บอกว่า ความจริงไอทีเอเป็นเสมือนกระจกให้รู้จักตัวเอง “ปฏิบัติหน้าที่เป็นที่ยอมรับของประชาชน และมีความโปร่งใสหรือไม่” เพราะบางครั้งหน่วยงานรัฐมักมองไม่เห็นตัวเองเลยต้องให้ “ประชาชน” สะท้อนปัญหาผ่านระบบประเมินไอทีเอนั้น

เพื่อนำไปสู่การพัฒนาปรับปรุงแล้ว “ไอทีเอ” ก็เป็นเสมือนการแข่งขันกระตุ้นให้หน่วยงานรัฐพัฒนาองค์กรให้ดีขึ้นเรื่อยๆ “อันเกี่ยวกับการบริหารของผู้นำองค์กร” มักถูกนำมาเปรียบเทียบจากหน่วยงานในจังหวัดเดียวกัน จนตอนนี้ไอทีเอกลายเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในการพิจารณาโยกย้ายตำแหน่งด้วย

ความจริงแล้ว “ไอทีเอ” เป็นเครื่องมือกรองการทุจริตคอร์รัปชันในองค์กรภาครัฐเบื้องต้นที่ได้มาจากตัวชี้วัดบุคลากรในหน่วยงาน “ปรากฏการระบุผู้บริหารมักมีพฤติกรรมเรียกรับประโยชน์ในการโยกย้ายตำแหน่ง” ทำให้สามารถตรวจจับพฤติกรรมของผู้บริหารระดับสูงกระทำความผิดโดยมิชอบบ่อยครั้งในช่วงที่ผ่านมา

ซึ่งเครื่องมือนี้ยังถูกยอมรับนำไปประยุกต์ใช้หลายประเทศคือ การประเมินคุณธรรมดำเนินงานของประเทศเกาหลีใต้ ก่อนมีการนำไปปรับใช้ในอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ภูฏาน มองโกเลีย คูเวต กาตาร์ และไทย

เหตุนี้ปี 2566 ป.ป.ช.จะเปิดเผยผลประเมินทั้งหมด ไม่ว่าเป็นคะแนนรวม คะแนนรายเครื่องมือ ทั้งในแง่มิติความสุจริตโปร่งใสผ่านคำถามการบริการจ่ายสินบน ของขวัญกำนัล ประโยชน์อื่นใดแลกการอนุมัติอนุญาตหรือไม่ มิติการรับบริการของประชาชนถูกเลือกปฏิบัติหรือไม่ มิติระยะเวลาขั้นตอนรับบริการ มิติกติกาการโยกย้าย

เป็นการชี้เป้าให้ “หน่วยงานรัฐ” นำข้อมูลผลประเมินไปวิเคราะห์แล้วปรับปรุงองค์กรตัวเอง ทั้งเป็นการชี้เป้าให้ประชาชนรับรู้ดำเนินการตรวจสอบว่าคะแนนประเมินนั้นตรงตามความจริงมากเพียงใดด้วย

“แม้ว่าไอทีเอไม่ใช่เป็นเครื่องมือที่ดีร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ขณะนี้ก็ยังไม่มีสิ่งใดมาประเมินคุณธรรม ความโปร่งใส และการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐได้ดีไปกว่านี้แล้ว ดังนั้นอนาคตการทุจริตคอร์รัปชันน่าจะลดลง เพราะไอทีเอจะกระตุ้นให้ดำเนินงานเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ และตอบสนองต่อประชาชนได้ดียิ่งๆขึ้น” นิวัติไชยว่า

ทวิชาติ นิลกาญจน์ ผช.เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวเสริมว่า ปีนี้เมื่อพิจารณาผลการประเมินแล้วกลุ่มคะแนนต่ำน่าเป็นห่วงคือ “ท้องถิ่นขนาดเล็ก” ที่ยังขาดความพร้อมงบประมาณ ทั้งยังมีกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา 87 หน่วยงาน ผ่านประเมิน 60 หน่วยงาน และองค์การมหาชน 59 หน่วยงานผ่าน45หน่วยงาน

เบื้องต้นสำนักพัฒนาและส่งเสริมธรรมาภิบาล ป.ป.ช. ดำเนินการวิเคราะห์แต่ละหน่วยงานที่คะแนนต่ำกว่า 85 คะแนนไม่ผ่านประเมินนั้นเกิดจากสาเหตุใด แล้วก็จะเข้าไปแนะนำส่งเสริมปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น

ส่วนปีหน้า “เรายังต้องพัฒนาระบบไอทีเอต่ออีก” เพื่อให้มีประสิทธิภาพครอบคลุมเข้มงวดที่จะเน้นประเมินหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย การทุจริตคอร์รัปชัน และยกระบบ CPI มาช่วยตรวจวัดโครงสร้างอำนาจด้วย

นี่คือ “แนวทางการเสริมสร้างด้านคุณธรรมและความโปร่งใส” ให้หน่วยงานภาครัฐนำไปสู่การพัฒนาระบบการบริหารราชการไทย เพื่อให้มีประสิทธิภาพลดโอกาสในการทุจริตประพฤติมิชอบต่อไป.

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม