ขณะที่ 11 พรรคการเมืองกำลังเจรจาต่อรอง เพื่อแบ่งตำแหน่งรัฐมนตรีกันอย่างเคร่งเครียด ไม่ทราบชัดว่าใครจะได้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้ที่สนใจเรื่องนี้มากที่สุดน่าจะได้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อยากรู้ว่ายังยืนยันการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นหรือไม่

นายนพดล ณ เชียงใหม่ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า จะหารือกับ อปท.อื่นๆ เพื่อจัดทำ 8 ข้อเสนอต่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ยืนยันนโยบายกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ตามที่เคยทำเอ็มโอยูร่วมกับพรรคก้าวไกล นายก อบต.บางคนอยากรู้ใครคือ มท.1

นั่นก็คือ รมว.มหาดไทย นายกิตติพงศ์ พงษ์สุรเวท นายก อบต.โพธิ์กลาง นครราชสีมา เปิดเผยว่า มีกระแสข่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย จะเป็น มท.1 ทำให้กังวลว่ารัฐบาลจะสานต่อนโยบายการกระจายอำนาจหรือไม่ ข่าวระบุว่า พรรคภูมิใจไทยขู่จะถอนตัวจากรัฐบาล

ถ้าหากไม่ได้ตำแหน่ง มท.1 เท็จจริงอย่างไรไม่แน่ชัด แต่ข่าวนี้ทำให้ อปท.ต่างๆเป็นกังวล เพราะไม่รู้ว่าพรรค ภท.มีนโยบายอย่างไร เกี่ยวกับการกระจายอำนาจ รู้แต่ว่าเคยเป็นพรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยม ไม่เคยประกาศนโยบายที่ชัดเจน เกี่ยวกับการเมืองและการปกครองประเทศ รู้แต่นโยบายกัญชาเสรี

ต้องไม่ลืมว่ารัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลผสม 11 พรรค แต่ละพรรคต่างมีนโยบายของตน อาจมีทั้งตรงกันหรือขัดกัน นายก
รัฐมนตรีจึงต้องทำเรื่องนี้ให้กระจ่าง การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประชาธิปไตยสู่ระดับรากหญ้า จึงต้องเป็นนโยบายรวมของรัฐบาล เพื่อป้องกันการขัดแย้ง

เชื่อว่าพรรค พท.ซึ่งเคยประกาศตนเป็น “ฝ่ายเสรีนิยม” หรือประชาธิปไตย แม้จะจับมือจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว แต่คงไม่ถึงกับถูกครอบงำด้วยระบบอำนาจนิยม เช่นเดียวกับการไม่ลืมที่จะประกาศว่า จะเริ่มจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก แม้จะถูกฝ่ายอำนาจนิยมคัดค้านหนัก โดยเฉพาะ สว.

...

นโยบายกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ของพรรค ก.ก. ไม่ใช่แค่กระจายอำนาจหรืองบประมาณ แต่อาจถึงขั้นให้ยกจังหวัดที่มีความพร้อมให้เป็น อปท.ขนาดใหญ่ มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด เช่นเดียวกับผู้ว่าฯ กทม. และอาจมีผลถึงกับยุบการบริหารราชการส่วน ภูมิภาค เหลือเพียงส่วนกลางกับท้องถิ่น.