การขึ้นเป็นนายกฯคนที่ 30 ของประเทศไทย ด้วยความยากลำบากและไม่ปกติ รัฐบาลเศรษฐาทวีสิน จะต้องเจอกับวิบากกรรมในอนาคตอีกนับไม่ถ้วน

โดยเฉพาะความเชื่อมั่น

เชื่อมั่นในความเป็นนายกฯ และรัฐบาลที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ จากวิกฤติการเมืองในอดีตและในปัจจุบันและอนาคต ไม่ใช่เป็นการสลายความขัดแย้งที่รากเง้าของปัญหา แต่เป็นการสลายความขัดแย้งเฉพาะหน้า ในการที่จะขึ้นสู่เป้าหมายการเป็นรัฐบาลให้สำเร็จ

จึงมีค่าตอบแทนที่จะต้องจ่ายรออยู่

ความนิยมจากประชาชนที่ลดลง การทำงานที่ยากลำบากขึ้น การร่วมรัฐบาลต่างขั้วที่มีความเห็นเรื่องของนโยบายที่ไม่ตรงกัน และเรื่องของผลประโยชน์ที่เพื่อไทยจะต้องรับผิดชอบและจ่ายค่าตอบแทนอยู่พรรคเดียว

เฉพาะนโยบายเพื่อไทยที่ใช้ในการหาเสียงต้องใช้เงินถึง 1.8 ล้านล้านบาท

มากกว่าครึ่งของงบประมาณรายจ่าย เป็นนโยบายกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ที่มีถึง 25 ด้าน 5 กลุ่มนโยบาย แจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ใช้เงินกว่า 5.6 แสนล้าน การกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดกลางขนาดย่อมไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้าน การแก้ปัญหาหนี้สินลดภาระประชาชนอีกกว่า 1.3 หมื่นล้าน เช่น ค่าไฟฟ้า ราคาน้ำมันที่รอเช็กบิลอยู่แล้ว การดูแลผู้สูงอายุไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้าน เรื่องของสุขภาพ เรื่องของการศึกษา เรื่องของคมนาคม การบริหารจัดการน้ำ รวมๆแล้วอีกเกือบ 6 แสนล้าน

งบประมาณรายจ่ายประจำปีแบบขาดดุลมีแค่ 3.3 ล้านล้าน

พรรคร่วมรัฐบาลอื่นคงไม่ยอม ต้องมาคุยกันเรื่องของนโยบายให้ลงตัวอีก หลังจากปวดขมับกับการแบ่งโควตา ครม.กันมาแล้ว นโยบายเร่งด่วนที่เพื่อไทยจะรีบเสนอมี 3 เรื่อง นโยบายเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ นโยบายเร่งแก้หนี้สินของประชาชน และนโยบายแก้ปัญหาราคาพลังงาน

ทุกนโยบายต้องเห็นผลภายใน 6 เดือน

...

ที่รอทวงสัญญาจากประชาชน ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท รัฐบาลพรรคเพื่อไทยก็ต้องทำให้ได้ ซึ่งจะต้องเกี่ยวข้องกับหน่วยงานหลายฝ่าย และถ้า กระทรวงแรงงาน ไปอยู่กับ ภูมิใจไทย ซึ่งไม่ใช่นโยบายหลักของพรรคภูมิใจไทยด้วย จะจบเรื่องค่าแรงขั้นต่ำกันอย่างไร

ที่หมายถึงคะแนนนิยมโดยตรงของเพื่อไทย

ความใหม่ของนายกฯคนที่ 30 ของประเทศไทย เศรษฐา ทวีสิน ต้องถือว่าต้นทุนทางการเมืองและความเชื่อมั่นยังเป็นศูนย์ เวลาจะพิสูจน์วิสัยทัศน์ของผู้นำ และวิสัยทัศน์ของผู้นำ จะเป็นการยืนยันตัวตนและต้นทุนของผู้นำ.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th

คลิกอ่านคอลัมน์ "คาบลูกคาบดอก" เพิ่มเติม