โพล ม.ศรีปทุม-ดีโหวต ชี้ คะแนนนิยม หลังตั้งรัฐบาล-นายกฯ เพื่อไทย ไหลไป ก้าวไกล 51% แต่ยังหวังหากนโยบายทำสำเร็จ อาจกลับมาเลือก นโยบายรัฐบาลเพื่อไทย อยากให้ทำสำเร็จมากสุด ร้อยละ 40.41 ค่าแรง 600 ต่อวัน เงินเดือน ป.ตรี 25,000-ร้อยละ 39.95 “กระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท”
มหาวิทยาลัยศรีปทุม (SPU) ร่วมกับดีโหวต (D-vote) เปิดเผยผลการวัดคะแนนนิยมหลังจากการเลือกตั้งเพื่อประเมินความพึงพอใจและการตอบสนองความคาดหวังของประชาชนจากแต่ละพรรคการเมืองภายหลังได้รับเสียงเลือกจากประชาชนไปแล้ว ในประเด็นที่ว่า "หากมีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้งในวันนี้ คุณจะเลือกพรรคใด" โดยสำรวจระหว่างวันที่ 21-24 ส.ค. 2566 จากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกช่วงอายุ ภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,253 ตัวอย่าง ค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0 พบว่า พรรคที่ชนะการเลือกตั้งสูงสุด 6 อันดับแรก มีอัตราการเปลี่ยนแปลงของคะแนนนิยมเฉลี่ย (เฉลี่ยจากผลการเลือกตั้ง 2566 ของแต่ละพรรค ทั้งบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อและแบ่งเขตเมื่อนำมาคำนวณเป็นร้อยละ) จากเพิ่มขึ้นไปน้อยลงตามลำดับดังนี้
พรรคก้าวไกล คะแนนนิยมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 62.39
พรรคภูมิใจไทย คะแนนนิยมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.50
พรรครวมไทยสร้างชาติ คะแนนนิยมลดลง ร้อยละ 0.84
พรรคพลังประชารัฐ คะแนนนิยมลดลง ร้อยละ 6.02
พรรคประชาธิปัตย์ คะแนนนิยมลดลง ร้อยละ 9.96
พรรคเพื่อไทย คะแนนนิยมลดลง ร้อยละ 62.24
ซึ่งการที่พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยมีอัตราการเปลี่ยนแปลงของคะแนนนิยมเฉลี่ยมากที่สุดนั้น เกิดจากการที่ได้มีโอกาสสลับกันเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลและเป็นที่สนใจของประชาชนจำนวนมาก โดยคะแนนนิยมที่ลดลงของพรรคเพื่อไทยร้อยละ 51.32 ได้ไหลไปหาพรรคก้าวไกล ในขณะที่ร้อยละ 10.92 ได้ไหลไปหาพรรคอื่นๆ
...
ทั้งนี้ทางศูนย์สำรวจความคิดเห็นศรีปทุม-ดีโหวต ยังได้ทำการสำรวจเบื้องต้นในประเด็นต่างๆ ระหว่างวันที่ 17-24 ส.ค. 2566 โดยในประเด็น “คุณคิดว่าการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วที่นำโดยพรรคเพื่อไทยเกิดจากความตั้งใจตั้งแต่แรกหรือไม่?” (514 ตัวอย่าง ค่าความเชื่อมั่นร้อยละ 93.0) ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 58.79 ระบุว่า “เกิดจากความตั้งใจตั้งแต่แรก เป็นการวางแผนล่วงหน้าไว้แล้วระหว่างเพื่อไทยและขั้วรัฐบาลเดิม” ร้อยละ 25.20 ระบุว่า “ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจตั้งแต่แรก เมื่อการจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคถึงทางตัน จึงต้องปรับแผนด้วยการข้ามขั้ว” และร้อยละ 16.02 ระบุว่า “ไม่รู้/ไม่แน่ใจ”
โดยสำหรับผู้ตอบว่า เกิดจากความตั้งใจแต่แรกถึงเหตุผลที่คิดว่าเหตุใดพรรคเพื่อไทยจึงตั้งใจวางแผนจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วนั้น ร้อยละ 36.52% ระบุว่า “เพราะคิดว่าการให้ก้าวไกลร่วมรัฐบาลและได้มีโอกาสทำผลงาน จะส่งผลเสียต่อความนิยมของเพื่อไทยในอนาคต” ร้อยละ 28.52 ระบุว่า “เพราะคิดว่าการมีก้าวไกล ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลไม่มีทางสำเร็จ” ร้อยละ 22.07% ระบุว่า “เพราะคิดว่าการมีก้าวไกล ถึงจะตั้งรัฐบาลสำเร็จ แต่ไม่นานก็ถูกกลุ่มอำนาจเก่าล้มอยู่ดี” และร้อยละ 12.89 ระบุว่า “ไม่รู้/ไม่แน่ใจ”
สำหรับประเด็น “นโยบายรัฐบาลเพื่อไทยข้อใดที่คุณอยากให้ทำสำเร็จมากที่สุด 3 อันดับแรก” (446 ตัวอย่าง ค่าความเชื่อมั่นร้อยละ 93.0) ร้อยละ 40.41 ระบุว่า “ค่าแรง 600 บาทต่อวัน เงินเดือน ป. ตรี 25,000 บาท” ร้อยละ 39.95 ระบุว่า “กระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท” ร้อยละ 37.47 ระบุว่า “ปรับลดราคาพลังงาน น้ำมัน ไฟฟ้า” ร้อยละ 32.51 ระบุว่า “จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่ต่อต้านการรัฐประหาร” และร้อยละ 23.70 ระบุว่า “ปฏิรูประบบราชการและทหาร” โดยกลุ่มตัวอย่างระบุเพิ่มเติมว่า หากพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลสามารถทำนโยบายดังกล่าวได้สำเร็จ ในการเลือกตั้งครั้งหน้ามีโอกาสจะเลือกพรรคเพื่อไทยหรือพรรคร่วมรัฐบาล โดยร้อยละ 27.31 ระบุว่า “เลือกแน่นอน” และร้อยละ 24.15 ระบุว่า “อาจจะเลือก”
สำหรับประเด็น “ท่านเห็นชอบหรือไม่? ว่าประเทศไทยควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน” (523 ตัวอย่าง ค่าความเชื่อมั่นร้อยละ 93.0) ร้อยละ 75.53 ระบุว่า “เห็นชอบ ควรจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ” ร้อยละ 12.14 ระบุว่า “ไม่เห็นชอบ ควรแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา” ร้อยละ 3.85 ระบุว่า “ไม่เห็นชอบ ไม่ควรแก้รัฐธรรมนูญเลย” ในขณะที่ประเด็นที่มาของ ส.ส.ร. ร้อยละ 82.34 ระบุว่า “ส.ส.ร. ควรมาจากการเลือกตั้งจากประชาชนทั้งหมด” ร้อยละ 9.17 ระบุว่า “ส.ส.ร. ควรมาจากการเลือกตั้งจากประชาชนบางส่วน และมาจากการแต่งตั้งบางส่วน” และร้อยละ 2.52 ระบุว่า “ส.ส.ร. ควรมาจากการแต่งตั้งทั้งหมด”
ทั้งนี้ระบบได้เปิดให้ผู้ตอบแบบสอบถามพิมพ์ตอบอย่างอิสระถึงประเด็นที่เห็นว่าควรปรับปรุงในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยระบบ AI ได้สรุปประเด็นที่ควรปรับปรุงคือ อำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีควรเป็นของ ส.ส. ที่มาจากประชาชนโดยตรง โดยไม่มีอำนาจของ ส.ว., ที่มาของ ส.ว. ควรมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน, ประเด็นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น, ประเด็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน, การป้องกันรัฐประหาร และคำนึงถึงหลักการประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นหลัก เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศได้อย่างแท้จริง เป็นต้น