ไทยกำลังก้าวสู่สังคม Super–Aged Society หรือ สังคมผู้สูงอายุขั้นสูงสุด นโยบายดูแลผู้สูงอายุจึงสำคัญอย่างยิ่ง การเปลี่ยนหลักเกณฑ์ให้ผู้สูงอายุต้องพิสูจน์ความยากจน เพื่อรับเบี้ยยังชีพเดือนละ 600–1,000 บาท จึงเป็นการดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แม้จะอ้างรัฐธรรมนูญก็ตาม จำนวนผู้สูงอายุไทยกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เร็วกว่าเด็กเกิดใหม่ ทำให้โครงสร้างประชากรเปลี่ยนไป ถ้ารัฐบาลไม่มีนโยบายที่ดี มองผู้สูงอายุแค่รวยหรือจน จะสร้างความเสียหายต่อประเทศชาติในอนาคตอย่างมหาศาล

มีการคาดการณ์กันว่า ปี 2030 อีก 7 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะกลายเป็น ประเทศสังคมสูงอายุระดับสุดยอด (Super–Aged Society) เช่นเดียวกับญี่ปุ่น จะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากถึง 28% ของจำนวนประชากรในประเทศ

ประชากรผู้สูงอายุไทยไม่ได้มีแค่ 11 ล้านคน ที่ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รายงานต่อคณะรัฐมนตรี โดยระบุว่า เป็นคนจน 5 ล้านคน ข้าราชการบำนาญ 1.2 ล้านคน อีก 5 ล้านคนรัฐต้องรับภาระ แต่ข้อมูลจาก สำนักงานสถิติแห่งชาติ สรุปผลสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทยสิ้นปี 2564 พบว่า ไทยมีผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) จำนวน 13,358,751 คน คิดเป็น ร้อยละ 19.6 ของประชากรไทยกว่า 68 ล้านคน แบ่งเป็น ผู้สูงอายุชายกว่า 5.97 ล้านคน (44.7%) ผู้สูงอายุหญิงกว่า 7.38 ล้านคน (55.3%) มีผู้หญิงสูงอายุมากกว่าผู้ชาย

สำนักงานสถิติแห่งชาติ ยังได้แบ่งกลุ่มผู้สูงอายุตามช่วงวัยพบว่า ผู้สูงอายุวัยต้น (60–69 ปี) มีกว่า 7.65 ล้านคน (57.2%) วัยกลาง (70–79 ปี) กว่า 3.94 ล้านคน (29.5%) วัยปลาย (80 ปีขึ้นไป) กว่า 1.77 ล้านคน (13.3%) ทุกช่วงวัยจะมีผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

...

ตัวเลขนี้สำรวจในปี 2565 ถ้าบวกผู้สูงวัยที่เพิ่มราวปีละ 5 แสนกว่าคนในปี 2565 เข้าไปด้วย จำนวนผู้สูงอายุไทยวันนี้จะอยู่ราว 13.8 ล้านคน สูงกว่าตัวเลขผู้สูงอายุที่รับเบี้ยยังชีพที่กระทรวง พม.รายงาน ครม.ถึง 2.8 ล้านคน ถ้าจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นในอัตรา 5 แสนกว่าคนต่อปี อีก 7 ปีข้างหน้า 2030 ไทยจะมีผู้สูงอายุ 17 ล้านคน ในขณะจำนวนประชากรรวมกลับลดลงทุกปี เพราะเด็กเกิดน้อยลงทุกปี ถือเป็นปัญหาใหญ่ของชาติที่รัฐบาลใหม่จะเร่งแก้ไขเป็นการด่วน

9 ปีในยุครัฐบาล คสช. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ไม่เคยแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุอย่างเป็นรูปธรรมนอกจากเบี้ยยังชีพเดือนละ 600-1,000 บาท แม้จะมี กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แต่อนาคตผู้สูงอายุไทยกว่า 13 ล้านคนกลับตกอยู่ในสภาพที่ “ไร้อนาคต” นอกจากเบี้ยยังชีพเดือนละ 600-1,000 บาท

วันนี้ผมจะพาท่านผู้อ่านและ ครม.ประยุทธ์ ไปดูประเทศอื่นว่า เขาดูแลผู้สูงอายุกันอย่างไร เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสังคมสูงอายุขั้นสุดยอด รัฐบาลญี่ปุ่นส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีงานทำ กำหนดเงินเดือนเริ่มต้น 60,000 เยน ราว 15,000 บาท ตั้งศูนย์ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในระยะยาว เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น รัฐบาลญี่ปุ่นมองผู้สูงอายุด้วยความหวัง ยังมีความสามารถและยังมีศักยภาพที่จะช่วยขับเคลื่อนสังคมได้ ไม่แทงบัญชีเป็น “คนยากจนอนาถา” เหมือนรัฐบาลลุง อิตาลี ก็ส่งเสริมด้วยการลดภาษีให้เอกชนที่จ้างงานผู้สูงอายุขยายการเกษียณออกไปเป็น 65–70 ปี

ที่สุดยอดคือ ฟินแลนด์ ประเทศที่คนมีความสุขที่สุดในโลก รัฐบาลฟินแลนด์ถึงกับปรับโครงสร้างเมืองให้เอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ รัฐบาลที่คิดดีหวังดีต่อประชาชน เขาทำกันแบบนี้ไม่ใช่ผลักไสไปเป็นคนจนอนาถารับเบี้ยยังชีพจากรัฐบาลไปจนตาย

ก็เอาข้อมูลดีๆมาเปิดหูเปิดตารัฐบาลลุงไว้ตรงนี้.

“ลม เปลี่ยนทิศ”

คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม