พรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลต่างดาหน้าออกมาวิพากษ์กันโดยถ้วนหน้า หลังจากที่รัฐบาลรักษาการ ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เปลี่ยนกฎการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุใหม่ อาจทำให้ผู้สูงอายุ 11 ล้านคน ได้รับเบี้ยยังชีพเพียง 5 ล้านคน อีก 6 ล้านคนถูกรัฐบาลลอยแพ
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.พรรคก้าวไกล วิจารณ์ว่าการเปลี่ยนหลักเกณฑ์จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นการลักไก่ของรัฐบาลรักษาการที่แย่มากๆ เป็นการทิ้งทวนที่มีผลกระทบผู้ชราทั้งประเทศ แม้แต่โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลก็ยังบอกว่าต่อไปนี้ ผู้สูงอายุจะต้องมีหลักฐานพิสูจน์
เพื่อแสดงตนว่าไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่พอยังชีพ เป็นผู้ยากอนาถา ซึ่งถูกนักวิชาการวิพากษ์ว่า เป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นคนหรือไม่ ขณะที่โฆษกรัฐบาลชี้แจงว่าการเปลี่ยนกติกาจะไม่กระทบต่อสิทธิของผู้สูงอายุ ที่ได้รับเบี้ยยังชีพอยู่ในปัจจุบัน จะใช้บังคับเฉพาะผู้สูงอายุรุ่นใหม่
นั่นก็คือนับแต่วันที่ 12 สิงหาคมเป็นต้นมา ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จะได้รับเบี้ยยังชีพเฉพาะผู้ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่พอยังชีพ มีเสียงวิจารณ์จากนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.พรรคเพื่อไทย ว่า รัฐบาลรักษาการมีความจำเป็นอะไรที่ต้องไปแก้ไขคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ ทำลายหลักสวัสดิการถ้วนหน้า
เช่นเดียวกับคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ที่วิจารณ์ว่า เป็นการทำลายรัฐสวัสดิการโดยถ้วนหน้า ช่วยเหลือเฉพาะคนจนอนาถา ตามระบบสังคมสงเคราะห์ ขัดต่อเจตนา รมณ์ของรัฐธรรมนูญและหลักสากล สะท้อนว่ารัฐบาลหาเงินไม่ได้ จนต้องตัดจำนวนคนแก่ผู้มีสิทธิรับเบี้ยยังชีพ
...
มองในอีกมุมหนึ่ง เป็นภาพสะท้อนและตอกย้ำว่าประเทศไทยไม่ใช่ประเทศประชาธิปไตย แต่เป็นอำมาตยาธิปไตย การปกครองโดยข้าราชการรัฐให้สวัสดิการเฉพาะกลุ่มข้าราชการ ให้ทั้งค่ารักษาพยาบาลชั้นหนึ่ง มีทั้งบำเหน็จบำนาญ ส่วนลูกจ้างเอกชนเพิ่งได้รับสวัสดิการบางส่วน เมื่อไม่กี่ทศวรรษ
แต่คนไทยส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ จึงไม่ได้รับสวัสดิการ นอกจากเบี้ยยังชีพเดือนละ 600 ถึง 1,000 บาท ทั้งๆที่คนเหล่านี้ทำงานมาตลอดชีวิต และเสียภาษีให้รัฐมาโดยตลอด สมควรได้รับสวัสดิการโดยถ้วนหน้า และควรได้มากกว่าเดือนละ 600 บาท อาจถึง 3,000 บาท ตามนโยบายบางพรรค.