การรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ ในประเทศที่มี ระบบสวัสดิการรัฐกับประเทศที่ไม่มีระบบสวัสดิการรัฐโดยตรง แต่เป็นการลดแลกแจกแถมแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ามีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แม้รัฐธรรมนูญจะมีบทบัญญัติถึงความเสมอภาคและความเท่าเทียมของประชาชนทุกคนในการเข้าถึงระบบสาธารณสุข สาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเอาไว้ แต่ในการนำมาปฏิบัติยังห่างไกลความเป็นจริงมาก

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ระเบียบของ กระทรวงมหาดไทย เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ พ.ศ.2566 ให้มีผลเริ่มบังคับใช้เมื่อวันที่ 12 ส.ค.ที่ผ่านมา ลงนามโดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย โดยระเบียบดังกล่าวระบุถึงหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ.2546

กำหนดคุณสมบัติ ของ ผู้มีสิทธิจะได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ต้องมีสัญชาติไทย มีชื่อในทะเบียนบ้านในเขตองค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่น มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และ

เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ

ทั้งนี้หาก ผู้สูงอายุที่ไม่มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ แต่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพไปด้วยความสุจริต ให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ตรวจสอบข้อเท็จริง เพื่อระงับการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อไป โดยยกเว้นการเรียกเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุคืน

ในบทเฉพาะกาลได้ระบุว่า บรรดาผู้สูงอายุที่ได้ขึ้นทะเบียนและรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่ก่อนที่วันระเบียบนี้ใช้บังคับ ให้ยังมีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากองค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่นนั้นต่อไป

พอสรุปเป็นที่เข้าใจได้ว่า การกำหนดหลักเกณฑ์ เงินผู้สูงอายุฉบับใหม่ ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทยต่อไปนี้ ผู้ที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ จะต้องเข้าเงื่อนไขเดิมและเงื่อนไขใหม่คือ จะต้องเป็นผู้ไม่มีรายได้ และมีรายได้ไม่เพียงพอในการยังชีพ โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ

...

และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นผู้ตรวจสอบว่า เข้าเงื่อนไขหรือไม่

ดังนั้นตามระเบียบใหม่ ผู้สูงอายุรายใดจะได้รับหรือไม่ได้รับเบี้ยยังชีพขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ได้รับ ตามเงื่อนไขอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ โดยอัตโนมัติเหมือนกันทุกคน

ส่วนผู้ที่ได้รับเบี้ยผู้สูงอายุอยู่แล้ว ไม่มีผลกระทบ จะมีผลแต่เฉพาะ ผู้ที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ หลังวันที่ 12 ส.ค.2566 ไปแล้วเท่านั้น

ความยากในการปฏิบัติก็คือ คำว่าผู้ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอกับการยังชีพ จุดไหนถึงจะเรียกว่าเหมาะสม และความเหมาะสมของแต่ละคนแตกต่างกันอย่างไร จะขัดกับหลักความเท่าเทียมในรัฐธรรมนูญหรือไม่

เงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่กำหนดอายุของผู้ที่จะมีสิทธิได้รับนอกจากจะมีปัญหาในการปฏิบัติแล้วยังมีปัญหาในข้อกฎหมาย ยังมีนโยบาย ยกเลิกหนี้ ค่าแรงขั้นต่ำ ที่บรรจุไว้ในนโยบายพรรคการเมืองจะเป็นปัญหาในการนำนโยบายไปปฏิบัติในอนาคตแน่นอน.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th

คลิกอ่านคอลัมน์ "คาบลูกคาบดอก" เพิ่มเติม