“อี้ แทนคุณ” จี้ ประธานสภาฯ ปลด “ปดิพัทธ์” หลังโพสต์ภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ระบุว่าเป็นของดีพิษณุโลก ด้าน “ราเมศ” โฆษกประชาธิปัตย์ ชี้ เข้าองค์ประกอบกฎหมาย ต้องดำเนินคดี

วันที่ 14 สิงหาคม 2566 นายแทนคุณ จิตต์อิสระ รักษาการประธานคณะกรรมการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเสมอภาคระหว่างเพศ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ของพรรคก้าวไกล โพสต์ภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ระบุว่า เป็นของดีพิษณุโลก ผ่านทางโซเชียลมีเดียของตนเอง โดยมองว่าเป็นการทำผิดมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ที่บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม” 

นายแทนคุณ ระบุต่อไปว่า ตนเป็นหนึ่งในผู้ที่เคยร่วมผลักดัน พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เพื่อป้องกันมิให้การเผยแพร่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีมากเกินไป จนนำมาซึ่งการเมามายขาดสติ เกิดอุบัติเหตุ เกิดความสูญเสียทั้งทรัพย์สินและชีวิตของพี่น้องประชาชนคนไทย แม้ว่าสุราพื้นถิ่นจะเป็นเรื่องที่สนับสนุนส่งเสริมอาชีพ และการนำผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม แต่การโฆษณาชวนเชื่อโดยตรงหรือโดยอ้อม ย่อมผิดกฎหมายชัดเจน 

แทนคุณ จิตต์อิสระ
แทนคุณ จิตต์อิสระ

...

อีกทั้ง นายปดิพัทธ์ เป็นถึงรองประธานสภาผู้แทนราษฎร สมควรที่จะรู้และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมทั้งมาตรฐานทางจริยธรรมที่กำกับดูแลนักการเมืองไม่ให้ประพฤติชั่ว เพราะการดื่มแอลกอฮอล์ย่อมทำให้ขาดสติและขาดความยับยั้งชั่งใจ เหมือนก่อนหน้านี้ที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ของพรรคก้าวไกล ขาดสติ ขาดวุฒิภาวะ ไปกระทืบซ้ำคนล้มและเกิดวิวาทเพราะการเมา เชื่อว่าหากมีสติสัมปชัญญะที่ดี ย่อมไม่ทำแบบอย่างที่เลวให้กับเยาวชนและสังคม

“ขอให้ท่านประธาน วันมูหะมัดนอร์ มะทา ได้โปรดพิจารณาดำเนินคดีตามกฎหมายดังกล่าว และประมวลจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้เด็ดขาด มิให้เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป เชื่อว่าประชาชนคาดหวังการรักษากฎหมายของนักการเมือง มิให้ทำให้รัฐสภาต้องด่างพร้อย เพราะการกระทำของคนไม่กี่คนจากพรรคก้าวไกลอีก”

“ราเมศ” ชี้ เข้าองค์ประกอบกฎหมาย ต้องดำเนินคดี

ทางด้าน นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงประเด็นเดียวกันว่า ในหลักการของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควบคุมในเรื่องการโฆษณาไว้ มีเจตนารมณ์เพื่อปกป้องสังคมไม่ให้มีการโฆษณา มาตรา 32 คือการโฆษณาเสนอขายหรือส่งเสริมการขายกฎหมายห้าม และอีกกรณีคือห้ามแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมกับการมีข้อความหรือพฤติการณ์ที่เป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้คนอื่นอยากจะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นหลักกฎหมายใช้บังคับกับทุกคน

ในส่วนของ นายปดิพัทธ์ นั้น จากข้อเท็จจริงมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า มีการโพสต์แสดงชื่อแอลกอฮอล์จริงหรือไม่ ตอบได้ตรงกันคือ มีการโพสต์ภาพคราฟต์เบียร์จริง และเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แน่นอน ประการต่อมาที่ต้องวินิจฉัยต่อคือ ข้อความที่โพสต์ ถือว่าเป็นข้อความหรือพฤติการณ์ที่เป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้คนอื่นอยากจะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่ ตอบได้ตรงกันอีกเช่นกันคือ มีข้อความที่อวดอ้างชักจูงใจให้คนอื่นดื่ม เพราะบอกว่าเป็นของดี สื่อสารออกไปเพื่อให้คนอื่นอยากดื่ม เข้าองค์ประกอบกฎหมายทุกประการ ต้องดำเนินคดีเพื่อให้กระบวนการยุติธรรมตัดสินตามกฎหมาย ผิดถูกก็ว่ากันไปตามข้อเท็จจริง

ราเมศ รัตนะเชวง
ราเมศ รัตนะเชวง

นายราเมศ กล่าวในช่วงท้ายว่า “นายปดิพัทธ์ เป็นถึงรองประธานสภาผู้แทนราษฎร การปฏิบัติตนตามหลักกฎหมายบ้านเมืองคือสิ่งสำคัญ เรื่องนี้ก็ให้เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ความเห็นของผมก็แค่ความเห็นส่วนตัว อาจจะมีใครเห็นต่างจากนี้ก็ได้ แต่ นายปดิพัทธ์ เป็นบุคคลสาธารณะ ผมในฐานะประชาชนคนหนึ่งมีสิทธิที่จะติติงได้ว่า ท่านผู้ทรงเกียรติไม่ควรทำสิ่งนี้ จะมีแนวในการแสดงออกอย่างไรก็ควรคำนึงถึงสังคมและกฎเกณฑ์กติกาบ้าง เชื่อว่าเรื่องนี้จะเป็นประเด็นในวันสองวันนี้แน่นอน”.