นอกจาก ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ จะปล่อยให้เป็นไปตามราคาตลาด ยังมีเรื่องค่าครองชีพค่าน้ำค่าไฟ ที่ชาวบ้านบ่นกันอุบ กว่าจะโหวตเลือกนายกฯ ตั้งรัฐบาลกันสำเร็จต้องรอแถลงนโยบายต่อสภา จะเริ่มงานได้เต็มร้อยน่าจะเป็นกันยายนหรือตุลาคมไปแล้ว

ในขณะที่ ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค แพงขึ้น สาเหตุก็มาจาก ต้นทุนการผลิตและวัตถุดิบที่แพงขึ้น ยกตัวอย่าง ภาคปศุสัตว์ ที่กำลังเดือดร้อนเนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น เคยเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณายกเลิกมาตรการทางภาษีไปหลายครั้ง เพื่อแก้ไขปัญหาวัตถุดิบอาหารสัตว์มีราคาสูง ลดแรงกดดันด้านต้นทุนการผลิตที่มีผลโดยตรงต่อราคาเนื้อสัตว์ ไข่ไก่ และนม เนื่องจากร้อยละ 60-70 ของต้นทุนมาจากราคาอาหารสัตว์

ตั้งแต่การระบาดของ โควิด–19 และ สงครามยูเครน–รัสเซีย ที่ลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน สภาพอากาศที่แห้งแล้งผลพวงจาก เอลนีโญ ส่งผลให้ผลการผลิตการเกษตรลดลง ปัญหาใหญ่ในการส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลี เรพซีด มีผลกระทบกับห่วงโซ่การผลิตภาคปศุสัตว์ไทย โดยเฉพาะ วัตถุดิบอาหารสัตว์ ที่มีราคาเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 30 ในขณะที่ รัฐบาลและกรมการค้าภายใน ไม่มีปฏิกิริยาใดๆออกมาทั้งสิ้น

ปัจจุบัน ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ เฉลี่ยที่ 12.50 บาทต่อกิโลกรัม ราคาประกันของภาครัฐกำหนดไว้ 8.50 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ผลผลิตข้าวโพดของไทยมีต่ำกว่าความต้องการถึง 3 ล้านตัน

มีการเก็บ ภาษีการนำเข้ากากถั่วเหลือง ร้อยละ 2 เป็นการอุดหนุนโรงสกัดน้ำมันถั่วเหลืองให้ขายกากถั่วเหลืองให้กับโรงงานอาหารสัตว์ในราคาสูง แลกกับภาษีที่จ่ายรัฐเพียงเล็กน้อย แต่ส่งผลกระทบกับราคาอาหารของประชาชนอย่างมาก ที่สำคัญ ไทยผลิตถั่วเหลือง ได้เพียง 2 หมื่นตัน แต่ มีการนำเข้ากากถั่วเหลืองและเมล็ดถั่วเหลือง รวม 5 ล้านตันต่อปี

...

ที่ผ่านมา สมาคมภาคปศุสัตว์หลายสมาคม ได้ขอให้ทบทวน นโยบายอาหารภายใต้การดำเนินการของ กระทรวงพาณิชย์ เช่น การกำหนดสัดส่วนการนำเข้าระหว่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กับ ข้าวสาลีในอัตราส่วน 3:1 คือซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ 3 ส่วนต่อการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วนและขอให้ยกเลิกภาษีนำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองร้อยละ 2 เพื่อให้สอดคล้องกับการผลิตและความต้องการในประเทศ

ล่าสุด เครือข่ายสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนม แจ้งว่ามีเกษตรกรรายย่อยและรายเล็กทยอยปิดกิจการออกจากวงการไปประกอบอาชีพอื่น ที่ไม่เสี่ยงกับการขาดทุน เหตุผลคือต้นทุนด้านอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น แต่ ราคากลางน้ำนมดิบ ยังอยู่ที่ 21.25 บาทต่อกิโลกรัม ถ้ารัฐบาลไม่ทบทวนราคากลาง จะเกิดวิกฤติขาดแคลนนมเพื่อการบริโภคอย่างแน่นอน

ราคาไข่ไก่ ต้องปรับราคาหน้าฟาร์มอีก 20 สตางค์ เป็นฟองละ 4 บาท ก็เหตุผลเดียวกันคือต้นทุนอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น ต้นทุนการผลิตไข่ไก่ในปัจจุบันอยู่ที่ 3.80 บาทต่อฟอง ปัญหาหมูเถื่อนก็กระทบกับเกษตรผู้เลี้ยงหมูอย่างหนัก

ชาวบ้านตาดำๆต้องรับกรรมไปตามระเบียบ.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th

คลิกอ่านคอลัมน์ “คาบลูกคาบดอก” เพิ่มเติม