รศ.ดร.อนุสรณ์ หนุน จัดตั้งรัฐบาลให้ได้โดยเร็ว ไม่เห็นด้วย ทอดเวลาออกไปอีก 10 เดือนให้ ส.ว.หมดอำนาจ  ชี้ สภาตีความข้อบังคับใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ ทำลายหลักนิติรัฐ-นิติธรรม เรียกร้อง สว. แสดงแสดงเจตนารมณ์ตามเสียงข้างมาก ยัน หลีกเลี่ยงรัฐบาลข้ามขั้ว 

วันที่ 24 ก.ค. รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานคณะกรรมการบริหาร ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย กล่าวว่า หากให้ประเมินสถานการณ์การเมืองตอนนี้ อาจารย์มองว่า สิ่งสำคัญคือความพยายามในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะหากจัดตั้งรัฐบาลช้า จะมีผลกระทบต่อการแก้ไขปัญหาของประชาชน รวมทั้งมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุนด้วย และสาเหตุที่ไม่สามารถมีการจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะเป็นผลพวงมาจากรัฐธรรมนูญ ที่เป็นกติกาในการร่างขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร ทำให้เกิดอุปสรรคที่ไม่สามารถสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนในการจัดตั้งรัฐบาลได้ และผู้สืบทอดอำนาจ ยังใช้กลไกในการสกัดพรรคการเมืองที่มีเสียงมากอันดับที่ 1 รวมทั้งมีการตีความให้ข้อบังคับใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการทำลายหลักนิติรัฐและนิติธรรมโดยสิ้นเชิง

หลังจากนั้น ก็ต้องเป็นหน้าที่ของพรรคการเมือง ลำดับที่ 2 ในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งก็จะเห็นข้อจำกัดจากพรรคการเมืองลำดับ 1 แล้วว่า ถ้าไม่ได้เสียงของ สว. หรือพรรคการเมืองอื่นที่เป็นขั้วรัฐบาลปัจจุบันก็จะมีความเป็นไปได้ยากในการจัดตั้งรัฐบาล อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวในช่วง 1-2 วัน ที่ผ่านมา ยังไม่ใช่เรื่องที่จะต้องเชิญพรรคการเมืองรัฐบาลเก่า มาจัดตั้งรัฐบาล เพียงแต่เป็นการพูดคุยกันว่า จะมีการหาทางออกจากปัญหาที่ไม่สามารถหานายกรัฐมนตรี ในการจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างไร สถานการณ์ทางการเมืองจึงมีโอกาสที่จะพลิกผันได้ตลอด ซึ่งตามขั้นตอนหลังจากที่มีการเลือกนายกรัฐมนตรี หากพรรคเพื่อไทย ได้เป็นนายกรัฐมนตรี จะเป็นสิทธิของนายกฯ ที่จะเลือกพรรคการเมืองพรรคไหนมาร่วมรัฐบาลด้วยก็ได้ ซึ่งอาจจะไม่ใช่พรรคการเมืองในรัฐบาลปัจจุบันก็ได้ หรือจะเป็น 8 พรรคการเมือง ที่ทำเอ็มโอยูร่วมกันไว้ก็ได้ หรือแม้กระทั่งอาจจะเป็นพรรคการเมืองบางพรรค ในพรรครัฐบาลปัจจุบันก็ได้ โดยทุกอย่างสามารถเป็นไปได้หมด ตอนนี้จึงต้องพยายามให้การเลือกนายกฯ เป็นไปให้ได้ก่อน

...

นักข่าวถามว่า ปัญหาตอนนี้ คือ 312 เสียงของทาง 8 พรรคร่วมรัฐบาล ไม่สามารถที่จะหาเสียงสนับสนุนมาเพิ่มได้ จะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศได้บ้าง รศ.ดร.อนุสรณ์ บอกว่า ประเด็นนี้ตัวเองต้องขอเรียกร้องไปยังวุฒิสมาชิก ให้ออกมาแสดงเจตนารมณ์ตามเสียงข้างมาก ของสภาผู้แทนราษฎรและประชาชน ซึ่งปัญหาตอนนี้ขึ้นอยู่กับสมาชิกวุฒิสภา และพรรคการเมืองต่างๆ ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ถ้ายังติดล็อกอยู่ที่ สว. พรรคการเมืองต่างๆ ควรจะร่วมกันโหวตให้พรรคเสียงข้างมากให้ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แม้พรรคของตัวเองจะไม่ได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาลก็ตาม

ส่วนคำถามที่ว่า หากมีการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว จะสามารถเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน รศ.ดร.อนุสรณ์ บอกว่า การเมืองข้ามขั้วตอนนี้ต้องหลีกเลี่ยงให้ได้มากที่สุด และควรจะเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะเรื่องนี้จะเป็นการบีบของฝ่ายอนุรักษนิยมขวาจัด เพื่อให้พรรคฝ่ายประชาธิปไตยแตกกันเอง เป็นการวางกับดักว่า ควรจะเดินไปแนวทางนี้ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการเปลี่ยนผ่านของประชาธิปไตย และจะเกิดการชุมนุมประท้วงของประชาชนด้วย ซึ่งตัวเองก็ต้องฝากบอกไปถึงมวลชนให้ใจเย็นๆ เพราะการออกมาเคลื่อนไหว อาจจะกลายเป็นเงื่อนไขของผู้ไม่หวังดีที่จะเข้ามาแทรกแซงได้

สำหรับข้อเสนอของพรรคก้าวไกล ที่อยากให้ 8 พรรคร่วมรัฐบาลจับมือกันไป จนกว่าสมาชิกวุฒิสภาจะหมดวาระในอีก 10 เดือนข้างหน้า รศ.ดร.อนุสรณ์ บอกว่า หากเป็นแบบนี้จะใช้ระยะเวลานานไป และทำให้ประเทศเสียโอกาส และไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด ทางออกที่ดีที่สุด คือ ต้องให้พรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลโดยที่มีพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาลอยู่ด้วย

ส่วนการที่จะมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในวันที่ 27 กรกฎาคมนี้ ตัวเองไม่สามารถที่จะประเมินได้ตอนนี้ เพราะรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นรัฐธรรมนูญย้อนยุคและวางกับดักไว้เยอะ จึงไม่สามารถที่จะประเมินอะไรได้ สิ่งสำคัญ คือ สมาชิกวุฒิสภาต้องทำในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อให้บ้านเมืองสามารถเดินหน้าได้ตามหลักการประชาธิปไตย หากไม่ทำแบบนั้นจะเกิดปัญหาต่อประเทศแน่นอน และ สว.ไม่ควรไปยึดติด ว่าใครแต่งตั้งตัวเองมา เพราะคนที่แต่งตั้งมาไม่ใช่เรื่องของบุญคุณที่จ่ายเงินให้ และสิ่งสำคัญคือประชาชน ไม่ใช่ คสช.

ส่วนหากพรรรคลำดับสอง ไม่สามารถที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ โอกาสที่พรรคอันดับสามจะขึ้นมาทำหน้าที่มีมากน้อยแค่ไหน รศ.ดร.อนุสรณ์ บอกว่า สถานการณ์อาจจะถึงขั้นนั้นได้เหมือนกัน แต่หากเกิดกรณีนี้รัฐบาลที่ได้มาจะเป็นรัฐบาลที่ไม่เข้มแข็ง เพราะจำนวนเสียงต่างกับพรรคอันดับ 1 และ 2 เยอะมาก และการบริหารงานก็จะเป็นเรื่องยาก

ส่วนกรณีที่มีสมาชิกวุฒิสภา อยากให้มีการเลื่อนวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีออกไปอีก รศ.ดร.อนุสรณ์ มองว่า ไม่ควรจะมีการเลื่อนออกไปแล้ว เพราะการไม่สามารถที่จะเลือกนายกรัฐมนตรีและการจัดตั้งรัฐบาลได้ ไม่ได้เป็นผลดีกับประเทศ ทั้งภาคเศรษฐกิจและภาคการลงทุน และรัฐบาลรักษาการก็ไม่สามารถที่จะตัดสินใจในเรื่องสำคัญได้ แต่ถ้าฝืนที่จะดำเนินการต่อไปเพื่อการสืบทอดอำนาจ จะไม่เป็นผลดีต่อการบริหารราชการแผ่นดินแน่นอน ควรให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลใหม่ที่ได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนเข้ามาจัดการต่อ