รองโฆษกรัฐบาล ยัน วงเงินคงเหลือ 18,000 ล้านบาท เป็นวงเงินคนละส่วนกับงบกลางฉุกเฉิน พร้อมแจง ยังมีงบประมาณมากเพียงพอที่นำมาใช้จ่ายได้ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน
วันที่ 21 ก.ค. 2566 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจง กรณีข้อห่วงใยต่อวงเงินการใช้จ่ายงบประมาณกลางคงเหลือ ที่หลายฝ่ายมีความกังวลว่าจะไม่เพียงพอให้รัฐบาลใหม่ดำเนินการว่า ระบบการเงินการคลังของประเทศไทยมีเสถียรภาพที่เข้มแข็งเพียงพอต่อการดำเนินการใช้จ่ายกรณีเร่งด่วนที่มีความจำเป็นของรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้บริหารจัดการงบประมาณอย่างเหมาะสมในทุก ๆ ด้าน เพื่อให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนทุกช่วงวัย ทุกกลุ่ม อย่างครอบคลุม และเท่าเทียม
นางสาวรัชดา กล่าวว่า สำหรับกรณีฉุกเฉินเร่งด่วน รัฐบาลมีงบกลาง หมวดเฉพาะ สำหรับการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เป็นงบประมาณที่ตั้งไว้เพื่อการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์อันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ การเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง และภารกิจที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ตั้งไว้ 92,400 ล้านบาท และปัจจุบัน ยังมีงบประมาณมากเพียงพอที่สามารถนำมาใช้จ่ายได้ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ในช่วงระยะเวลาที่เหลือของปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ประมาณ 2 เดือนเศษ (ถึงเดือนกันยายน 2566) เช่น การเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง หรือภารกิจที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอื่นๆ
ทั้งนี้ ณ วันที่ 16 กรกฎาคม 2566 กระทรวงการคลังรายงานว่า งบกลางฉุกเฉินที่ได้ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว เป็นวงเงินห้าหมื่นกว่าล้านบาท อาทิ โครงการเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2565 มาตรการให้ส่วนลดอัตราค่าไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย เป็นต้น
...
ในส่วนของวงเงินมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ที่มีการรายงานวงเงินคงเหลือ จำนวน 18,000 ล้านบาท นางสาวรัชดา กล่าวว่า เป็นวงเงินคนละส่วนกับงบกลางฉุกเฉิน ซึ่งการใช้งบประมาณภายใต้มาตรา 28 นี้ รัฐบาลมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐดำเนินโครงการโดยใช้เงินทุนของตัวเองไปก่อน และรัฐบาลจะรับภาระชดเชยค่าใช้จ่ายในการดำเนินการให้กับหน่วยงานของรัฐในภายหลัง โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการเพื่อให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนเกษตรกรในช่วงที่ราคาสินค้าการเกษตรตกต่ำ รวมถึงการเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการรายย่อยและลดภาระค่าครองชีพให้กับผู้มีรายได้น้อยในช่วงเกิดวิกฤติเศรษฐกิจต่างๆ ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐได้กำหนดกรอบอัตรายอดคงค้างรวมทั้งหมดที่รัฐต้องรับชดเชยจากการดำเนินโครงการตามมาตรา 28 ไว้ที่ไม่เกินร้อยละ 32 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งปัจจุบันมียอดคงค้างอยู่ภายใต้เกณฑ์ที่กำหนด
“จึงขอยืนยันว่า วงเงินสองส่วนดังกล่าว ไม่กระทบกับการดำเนินการตามภารกิจของหน่วยงานของรัฐ เนื่องจากหน่วยงานของรัฐสามารถใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 3.185 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน พัฒนา คุณภาพชีวิตของประชาชน ได้รับการดูแลและช่วยเหลือจากสวัสดิการของภาครัฐ รวมทั้งดำเนินการ ด้านต่างๆ ที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในทุกภูมิภาคของประเทศ และหากมีกรณีฉุกเฉินจำเป็น เช่น ภัยพิบัติในช่วงนี้ รัฐบาลไม่ว่าจะชุดใดก็ตาม ยังสามารถเบิกจ่ายจากงบกลางได้” นางสาวรัชดา ย้ำ