"ไอติม" ชี้ "สมาชิกสภาผู้แทนทุกคน" ควรเคารพเสียงของประชาชนที่ออกมา "เลือกตั้ง" พร้อมเผยการเมืองไทยขณะนี้ ไม่ได้เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยปกติ

เมื่อเวลา 19.30 น. วันที่ 19 ก.ค. 2566 พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์หลังเดินทางมาลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การชุมนุม พร้อมกล่าวว่า วันนี้หลักๆ ก็ถือว่ามาสังเกตการณ์ มาพูดคุยกับประชาชนถึงความรู้สึกที่เขามีหลังจากการลงมติของการประชุมรัฐสภาถึง 2 ครั้ง ทั้งวันที่ 13 และวันที่ 19 ก.ค. มาขอบคุณประชาชนที่ให้ใจ

ทั้งนี้ ส่วนตัวคิดว่าสาเหตุของการมารวมตัวกันวันนี้ เป็นปฏิกิริยาต่อผลการลงมติของรัฐสภาถึง 2 ครั้ง ส่วนตัว ขออธิบายว่า การลงมติทั้ง 2 วันดังกล่าวมีความสำคัญ เพราะเป็นความพยายามที่จะคืนความปกติให้กับสังคม ซึ่งวันที่ 13 ก.ค. พรรคก้าวไกลยืนยันมาตลอด เรียกร้องให้สมาชิกวุฒิสภา (สว.) โหวตให้กับ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรี

ขณะที่การโหวต ไม่ได้เป็นการโหวตให้เพราะความชื่นชอบในตัวพิธาหรือพรรคก้าวไกล แต่ขอให้เคารพเสียงของประชาชนทุกคนที่ลงคะแนนจากการเลือกตั้งทั้ง 40 ล้านเสียง จนกลายมาเป็นผู้แทนราษฎรจำนวน 500 คน ส่วนการโหวตให้แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคที่ได้รับความไว้วางใจ จนสามารถรวบรวมเสียงได้กึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรเป็นไปตามครรลองประชาธิปไตยตามปกติ

วันนี้ในการอภิปรายในสภาฯ เกี่ยวข้องกับการตีความข้อบังคับซึ่งพรรคก้าวไกล ยืนยันว่าหลักการสำคัญไม่ได้เกี่ยวข้องกับพิธาส่วนตัว แต่เราต้องยึดมั่นในหลักการที่ถูกต้องและการตีความ ต้องสอดคล้องกับหลักรัฐธรรมนูญ

ในส่วนของพรรคก้าวไกลที่มีการอภิปรายชัดเจน ที่เห็นว่าพรรคก้าวไกลไม่เห็นด้วย ตามมติของที่ประชุมรัฐสภาในวันนี้ เพราะมองว่ามันไม่ได้อยู่บนฐานที่เกี่ยวข้องกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่เป็นเหตุผลทางกฎหมายเหตุผลทางรัฐศาสตร์ ว่าทำไมไม่ควรจะตีความว่าการเสนอชื่อนายกฯ เข้าญัตติทั่วไปอยู่ในข้อบังคับข้อที่ 41

...

ทั้งนี้ ยืนยันมาตลอดว่าการลงมติวันที่ 13 ก.ค. คือเราต้องเคารพเสียงของประชาชนทุกคน ผมย้ำว่าเราต้องโหวตให้พิธาเพื่อเคารพเสียงของประชาชนทุกคน ไม่ใช่แค่เคารพเสียงของประชาชนที่เลือกพิธาและพรรคก้าวไกล หรือประชาชนที่โหวต 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลเท่านั้น แต่ให้สมาชิกสภาผู้แทนทุกคนเคารพเสียงของประชาชนที่ออกมาเลือกตั้ง

ฉะนั้นการเคารพเสียงข้างมากของ สส. ก็คือการเคารพเสียงของประชาชน เป็นหลักการที่เรายืนยันมาตลอด ทั้งนี้ คนที่ไม่เข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ล้วนอยากเห็นการเมืองเดินหน้าด้วยกติกาประชาธิปไตย 

เมื่อถามว่าขั้นต่อไปจะมีการหารือ หรือให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ พริษฐ์ ระบุว่า ในส่วนนี้ก็ขอให้เป็นการหารือของพรรคในลำดับต่อไป อย่างไรก็ตาม การเมืองไทย ณ ขณะนี้ไม่ได้เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยปกติ ไม่ว่าจะเป็นการให้ สว. เคารพเสียงข้างมากของ สส. เคารพเสียงข้างมากของประชาชน การที่พรรคก้าวไกลพยายามอภิปรายคัดค้าน ให้การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีไม่ถูกจำกัดด้วยข้อบัญญัติ 41 ทั้งหมดเป็นการพยายามคืนความปกติให้สังคมไทย.