รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ความเห็นถึงการจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรค ซึ่งได้เสนอ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็น “นายกรัฐมนตรีคนที่ 30” แต่ไม่ผ่านการโหวตของวุฒิสภา และ ส.ส.ขั้วรัฐบาลเก่าของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยได้เสียงโหวตเพียง 324 เสียง ไม่ถึง 375 เสียง เกินครึ่งหนึ่งของสองสภาว่า หากการจัดตั้งรัฐบาลมีความล่าช้า มีการพลิกขั้วทางการเมือง นำไปสู่ความวุ่นวาย เศรษฐกิจไทยปี 2566 จะเติบโตตํ่ากว่า 3% กำลังซื้อหด นักลงทุนไม่มา การลงทุนไม่เพิ่ม การส่งออกจะติดลบมากกว่า -2% และ ในระยะ 3 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศที่ไม่น่าลงทุน เพราะการเมืองไม่มีเสถียรภาพ ทำให้นโยบายเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน

เห็นหรือยังครับ ใครที่กำลังบ่อนทำลายเศรษฐกิจของชาติ ทั้งในระยะสั้นระยะยาว

ความเห็นของ รศ.ดร.อัทธ์ สอดคล้องกับบทความของ บลูมเบิร์ก ที่เผยแพร่เมื่อต้นเดือนนี้ก่อนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี บลูมเบิร์กระบุว่า ท่ามกลางความเร่งรีบในการแสวงหาเพื่อนใหม่และการปรับปรุงซัพพลายเชนทั่วโลก อินเดีย เวียดนาม และ เม็กซิโก ให้ความสนใจเรื่องนี้อย่างมาก แต่มีอยู่ชาติหนึ่งที่ไม่สนใจเลยก็คือ ประเทศไทย แต่ เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ไทยเคยเติบโตแบบก้าวกระโดดมาแล้ว เวลานั้นจีนเพิ่งจะฟื้นตัวจากความหายนะทางเศรษฐกิจ บริษัทผลิตรถยนต์ทั่วโลกทุ่มเงินลงทุนมหาศาลในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนได้รับฉายา “ดีทรอยท์แห่งเอเชีย” ก็คือ ประเทศไทย นั่นเอง

สมัยนั้น ประเทศไทยโดดเด่นด้านเสถียรภาพทางการเมือง ท่ามกลางสงคราม (เวียดนาม) ในภูมิภาค มีอัตราแลกเปลี่ยนที่มีเสถียรภาพ มีระบบภาษีที่น่าสนใจ ในทศวรรษ 1990 เศรษฐกิจไทยเติบโตในระดับตัวเลขสองหลัก จน นสพ.นิวยอร์ก ไทม์ส ยกย่องให้ไทยเป็น “เสือเศรษฐกิจตัวต่อไป” ของเอเชีย (ไทยเคยเกือบเป็นเสือตัวที่ 5 แห่งเอเชีย) ถือเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นสำหรับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และอำนาจทางการเมืองในกรุงเทพฯ แต่ความตื่นเต้นนั้นได้หายไปนานแล้ว กว่า 30 ปีที่ผ่านมากับการปฏิวัติ 3 ครั้ง ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถก้าวข้าม “ประเทศที่มีรายได้ปานกลาง” ไปได้ สวนทางกับจีนที่มีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

...

แม้ไทยจะเดินหน้าด้วยยุทธศาสตร์การส่งออกนำเศรษฐกิจ ดึงเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ แต่ก็ทำได้เพียง 50% ของจีดีพีปี 2560 แต่ในภาพที่ใหญ่กว่านั้น ไทยหล่นลงมาตามหลังจีน ตัวอย่างเช่น รายได้ต่อหัวต่อจีดีพีของคนไทย ตามข้อมูลของธนาคารโลก ปี 2565 จีดีพีต่อหัวของจีนเพิ่มขึ้นเป็น 12,720 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี เทียบกับ 6,900 ดอลลาร์ต่อคนต่อปีของไทย ตัวเลขนี้จีนอาจทิ้งห่างไทยเพิ่มเป็นสองเท่าในอนาคต

นิวยอร์ก ไทม์ส ได้วิเคราะห์ เหตุผลที่ทำให้ประเทศไทยล้าหลังอย่างมากในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เป็นเพราะ “การเมืองในประเทศ” ที่มีการต่อสู้กันระหว่าง พรรคการเมืองที่มีทหารหนุนหลัง กับ พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยที่มีนายทุนนักธุรกิจหนุนหลัง ครั้งหนึ่ง ทักษิณ ชินวัตร ได้เป็นนายกฯ แต่กลับทำให้เกิดความเสียหายลึกลงไปอีก ในขณะที่เพื่อนบ้านไทยลงนามสัญญาการค้าใหม่ๆ แต่ไทยกลับล้าหลังอย่างน่าตกใจ เช่น การเจรจากับอียูในปี 2014 ถูกยกเลิกหลังจากที่มีการปฏิวัติ นักร้องดัง เทเลอร์ สวิฟต์ ก็ยกเลิกการแสดงในไทย แต่เวียดนามกลับลงนามการค้าเสรีกับอียูเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ไทยเพิ่งจะมาเริ่มเจรจาใหม่ในปีนี้

ทั้งหมดนี้คือ ความหายนะทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่เกิดจาก การเมืองน้ำเน่าในประเทศ จากการต่อสู้ระหว่าง พรรคการเมืองทหาร กับ พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ทำให้ประเทศไทยจมดิ่งสู่ความล้าหลังและความยากจน ความจริงบทความ นิวยอร์ก
ไทม์ส ยังไม่จบ แต่เนื้อที่หมดเลยต้องจบ หวังว่าการเมืองน้ำเน่าในรัฐสภา จะไม่จบลงที่ “ทหาร” กลับมาเป็นนายกฯอีกครั้ง นักลงทุนเผ่นหนีแน่นอน.

“ลม เปลี่ยนทิศ”

อ่านข่าวเพิ่มเติม "หมายเหตุประเทศไทย"