ครม. เห็นชอบกำหนดอัตราค่าโดยสารสายสีเหลือง เริ่มต้น 15-45 บาท จำนวน 23 สถานี ช่วงลาดพร้าว-สำโรง เตรียมเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ 3 ก.ค. 2566 นี้ พร้อมให้คงค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วง และสีน้ำเงิน

วันที่ 27  มิถุนายน 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรีวันนี้ว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสารฯ สายสีเหลือง สายเฉลิมรัชมงคล และสายฉลองรัชธรรม  ร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการยกเลิกข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสารร่วม พ.ศ.2565 พ.ศ. .... และร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยอัตราและวิธีการจัดเก็บค่าบริการจอดรถยนต์และรถจักรยานยนต์ และค่าธรรมเนียม และค่าบริการอื่นๆ เกี่ยวกับการจอดรถยนต์และรถจักรยานยนต์ พ.ศ. .... รวม 5 ฉบับ ดังนี้ 

1.ร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสาร รถไฟฟ้า สายสีเหลือง พ.ศ. .... (ช่วงลาดพร้าว-สำโรง) สาระสำคัญเป็นการกำหนดอัตราค่าโดยสารตามวิธีการในสัญญาสัมปทาน โดยมีอัตราค่าโดยสารเริ่มต้น 15 บาท สูงสุด 45 บาท (23 สถานี) และหลักเกณฑ์อื่น อาทิ กำหนดหลักเกณฑ์ส่วนลดการเปลี่ยนถ่ายระบบแก่ผู้โดยสาร กรณีการเปลี่ยนถ่ายระบบระหว่างรถไฟฟ้าของ รฟม. ให้จัดเก็บค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียว เช่น การเปลี่ยนถ่ายระบบระหว่างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (รฟม.) มาสายสีเหลือง (รฟม.) ณ สถานีลาดพร้าว ส่วนกรณีการเปลี่ยนถ่ายระบบระหว่างรถไฟฟ้าของ รฟม. กับรถไฟฟ้าสายอื่น คณะกรรมการ รฟม. ประกาศกำหนดระยะเวลาสูงสุดสำหรับการเปลี่ยนถ่ายระบบ เช่น การเปลี่ยนถ่ายระบบระหว่างรถไฟฟ้าสาย Airport Rail Link (รฟท.) มาสายสีเหลือง (รฟม.) ณ สถานีหัวหมาก (เช่น ภายใน 30 นาที) ให้ผู้โดยสารได้รับส่วนลดค่าแรกเข้า กำหนดหลักเกณฑ์รายการส่งเสริมการเดินทาง ส่วนลดกลุ่มบุคคล เช่น เด็กนักเรียน นักศึกษา เป็นต้น ส่วนลดการเปลี่ยนถ่ายระบบตามประเภทผู้ถือบัตร การจัดโปรโมชัน กิจกรรมการตลาด การจำหน่ายตั๋วรายเดือน ตั๋วเป็นชุด ตั๋วราคาพิเศษ ความร่วมมือกับพันธมิตร สวัสดิการพนักงาน สนับสนุนนโยบายภาครัฐ เป็นต้น รวมทั้งหลักเกณฑ์สนับสนุนกิจกรรมพิเศษ เช่น งานเฉลิมฉลอง งานพระราชพิธี เพื่อส่งเสริมการใช้บริการรถไฟฟ้า กิจกรรมตามนโยบายของรัฐ หรือกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง มีกำหนดเปิดให้บริการเดินรถในวันที่ 3 ก.ค. 2566 นี้

...

2.ร่างข้อบังคับ รฟม. ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล พ.ศ. .... (สายสีน้ำเงิน) มีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกข้อบังคับ รฟม.ฯ รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล พ.ศ.2565 และเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ให้ครอบคลุมถึงการเปลี่ยนถ่าย ระบบกับรถไฟฟ้าสายอื่น รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับรายการส่งเสริมการเดินทาง/หลักเกณฑ์สำหรับ สนับสนุนกิจกรรมพิเศษไว้เช่นเดิม (คงอัตราค่าโดยสารตามข้อบังคับฉบับเดิม มี 38 สถานี เริ่มต้นที่ 17 บาท สิ้นสุด 43 บาท)  

3.ร่างข้อบังคับ รฟม. ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร และการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม พ.ศ. .... (สายสีม่วง) มีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกข้อบังคับ รฟม.ฯ รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม พ.ศ.2565 และเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ให้ครอบคลุมถึงการเปลี่ยนถ่ายระบบ กับรถไฟฟ้าสายอื่น รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับรายการส่งเสริมการเดินทาง/หลักเกณฑ์สำหรับ สนับสนุนกิจกรรมพิเศษไว้เช่นเดิม (คงอัตราค่าโดยสารตามข้อบังคับฉบับเดิม มี 16 สถานี เริ่มต้นที่ 14 บาท สิ้นสุด 42 บาท)   

4.ร่างข้อบังคับ รฟม. ว่าด้วยการยกเลิกข้อบังคับ รฟม. ว่าด้วยการกำหนดอัตรา ค่าโดยสารร่วม พ.ศ.2565  พ.ศ. .... เป็นการยกเลิกข้อบังคับ รฟม. ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสารร่วม พ.ศ.2565 เนื่องจากข้อบังคับฉบับนี้เป็นการกำหนดส่วนลดค่าแรกเข้าในการเปลี่ยนถ่ายระบบระหว่างสายสีน้ำเงินกับสายสีม่วง

5.ร่างข้อบังคับ รฟม. ว่าด้วยอัตราและวิธีการจัดเก็บค่าบริการจอดรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ และค่าธรรมเนียมและค่าบริการอื่นๆ เกี่ยวกับการจอดรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ พ.ศ. .... กำหนดอัตราค่าบริการจอดรถยนต์ และวิธีการจัดเก็บค่าบริการจอดรถยนต์สำหรับอาคารจอดรถยนต์ทุกแห่ง รวมถึงอาคารจอดรถยนต์อื่นๆ ในอนาคตของ รฟม. เป็นไปในแนวทางเดียวกันโดยรวมไว้ในฉบับเดียวกัน ซึ่งจะรองรับการจัดเก็บค่าบริการจอดรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของผู้มาใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่จะเปิดให้บริการในวันที่ 3 ก.ค.  2566 ปัจจุบันมีการเปิดบริการและคิดค่าบริการจอดรถจำนวน 3 แห่ง (สายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ)

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม แจ้งว่า ร่างข้อบังคับ รฟม.ทั้ง 5 ฉบับ คณะกรรมการ. รฟม. เห็นชอบแล้ว และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค. 2566 เป็นต้นไป.