ผลการสำรวจความเห็นประชาชน โดยนิด้าโพลครั้งล่าสุด สะท้อนภาพว่ามีคนไทยไม่ใช่น้อยที่ยังไม่ซาบซึ้ง ไม่ยอมรับกติกาประชาธิปไตย ไม่ยอมแพ้เลือกตั้ง อย่างที่นักการเมืองใหญ่บางคนเคยประกาศ “ผมแพ้ไม่เป็น แพ้ไม่มีในพจนานุกรม” ต้องชนะอย่างเดียว คนบางส่วนไม่ยอมรับรัฐบาลใหม่

นิด้าโพลสำรวจพบว่า หน่วยตัวอย่าง 38.63% ยอมรับรัฐบาลใหม่อย่างเต็มใจ 26.52% ไม่ยอมรับแต่จะไม่ชุมนุมต่อต้าน 18.87% จำใจยอมรับรัฐบาลใหม่ 14.40% รู้สึกเฉยๆ ไม่ว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี 26.72% เชื่อว่าจะมีการชุมนุมต่อต้าน แต่ไม่รุนแรง 25.42% เชื่อจะไม่มีการชุมนุม

แต่มีหน่วยตัวอย่าง 22.44% ที่มั่นใจว่ามีการชุมนุมแน่ และมีความรุนแรงด้วย ขณะที่คนส่วนใหญ่ 56.67% เป็นห่วงว่าเศรษฐกิจจะย่ำแย่ 37.18% ห่วงว่าจะเกิดความรุนแรง 32.98% กลัวเกิดความขัดแย้งในชาติ 29.16% หวังว่าจะนำไปสู่รัฐประหาร ในอดีตความรุนแรงมักเป็นข้ออ้างของนักรัฐประหาร

สาเหตุส่วนหนึ่งเนื่องจากการไม่ยอมรับกติกา ไม่รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย ถ้า แพ้เลือกตั้งมักจะปลุกระดมมวลชนออกมาชุมนุม เช่น พรรคคนเสื้อแดงแพ้เลือกตั้งเมื่อปี 2552 พรรคประชาธิปัตย์สามารถรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลได้ โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี กลุ่มคนเสื้อแดงชุมนุมต่อต้านยืดเยื้อ

นำไปสู่การสลายการชุมนุมนองเลือดที่สี่แยกราชประสงค์ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 อีกตัวอย่างหนึ่งคือการชุมนุมข้ามปีของกลุ่ม กปปส. นำโดย เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ หลังแพ้เลือกตั้งเมื่อปี 2556 จบลงด้วยรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 และได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เป็นต้นเหตุสารพัดปัญหาการเมืองขณะนี้

ผลสำรวจของนิด้าโพล ยังสะท้อนด้วยว่ามีคนไทยไม่ใช่น้อย เมื่อเกิดความขัดแย้งทางการเมือง มักจะคิดถึงการชุมนุมหรือรัฐประหารหลายครั้ง การชุมนุมไม่ได้เป็นไปโดยสงบ และปราศจากอาวุธ เพราะมุ่งมั่นจะล้มรัฐบาลให้ได้ ไม่ใช่ชุมนุมเรียกร้องตามปกติ ขณะเดียวกัน ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่เคารพประชาธิปไตย

...

บ่อยครั้งที่มีการชุมนุมทางการเมือง รัฐบาล (อำนาจนิยม) แทนที่จะอำนวยความสะดวกให้ประชาชนชุมนุมตามสิทธิ แทนที่จะใช้กฎหมายการชุมนุมสาธารณะ กลับงัดเอา พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ออกมาสลายการชุมนุม บางครั้งสลายการชุมนุมด้วย “กระสุนจริง” นำไปสู่การบาดเจ็บล้มตาย นี่คือโศกนาฏกรรมประชาธิปไตย.