ศูนย์ช่วยเหลือเด็กวิกฤตทางการศึกษา กสศ.แนะ รัฐต้องมีมาตรการเร่งด่วน สร้างงานสร้างอาชีพ ให้พ่อแม่เด็กยากจน ยืนหยัดได้ และมีทางเลือกการศึกษายืดหยุ่นเพื่อเด็ก "ดร.สมพงษ์" ชี้ ควรจัดตั้งรัฐบาลเร็วที่สุด ดันเป็นวาระเร่งด่วน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา กสศ. ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) หน่วยปฏิบัติการวิจัยเพื่อการพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมด้วยไทยพีบีเอส และ The Reporters จัดเวทีเสวนา ‘เปิดเทอมที่ไม่ได้เรียนต่อ’ เพื่อเสนอรายงานข้อค้นพบจากศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตการศึกษา กสศ. โดยมีทั้งนักวิชาการ นักกิจกรรม และนักการเมืองที่ทำงานด้านการศึกษาเข้าร่วมการเสวนา

...

ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม กสศ. เปิดประเด็นว่า จากตัวเลขเด็กหลุดจากระบบที่ทางกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยข้อมูลล่าสุดสูงถึงกว่า 100,000 คน โดยสาเหตุหลักมาจากปัญหาความยากจนของครอบครัวที่ผลักให้เด็กต้องออกจากการเรียนเพื่อไปทำงานหาเงินแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง ตนเห็นว่าในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลเช่นนี้ จะต้องมีการจัดตั้งรัฐบาลให้เร็วที่สุด และผลักดันให้เป็นวาระเร่งด่วน เพราะปีการศึกษา 2566 จะเกิดปรากฏการณ์ที่มีเด็กหลุดจำนวนมาก เพราะครัวเรือนยากจนไม่สามารถฟื้นตัวจากผลกระทบทางเศรษฐกิจจากช่วงโควิด-19 และหากยังไม่มีมาตรการที่เหมาะสม เด็กเหล่านี้จะหลุดออกนอกระบบการศึกษาและตกอยู่ในกับดักความยากจนข้ามรุ่นอย่างถาวร

ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า นโยบายที่จะมาแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ต้องประกอบไปด้วยมาตรการสร้างรายได้ให้ผู้ปกครองที่มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงแหล่งงานและเงินทุน เพื่อมีความสามารถในการอุปการะบุตรหลานของตัวเอง การมีทางเลือกการศึกษาที่หลากหลายและมีความยืดหยุ่น รวมถึงสวัสดิเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนที่ครอบคลุมทุกช่วงชั้น โดยเฉพาะอนุบาล ม.ปลาย สายอาชีพ และทุกรูปแบบการศึกษา นอกจากนี้ มาตรการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายทางการศึกษา จะต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากค่าเล่าเรียนด้วย เช่น ค่าเดินทาง ซึ่งจากผลการสำรวจพบว่ามีเด็กจำนวนมากที่ต้องหลุดออกนอกระบบการศึกษา เพราะไม่สามารถแบกรับค่าเดินทางในการไปเรียนหนังสือได้
“ในปีการศึกษา 2566 ศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา กำลังช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายระดับวิกฤตราว 1,100 คน ผ่านกลไกระดับพื้นที่ เพื่อให้ได้เรียนกับศูนย์การเรียน ซึ่งเป็นเส้นทางการศึกษาทางเลือกที่วางแผนการเรียนและพัฒนาทักษะ Soft Skills ทักษะอาชีพเป็นรายคน ตามข้อจำกัดของเด็ก ในจำนวนนี้รวมถึงเด็กและเยาวชนในสถานพินิจและศูนย์ฝึกอบรม พ่อแม่วัยรุ่น” ศ.สมพงษ์ กล่าว

เช่นเดียวกับ ดร.สุรศักดิ์ เก้าเอี้ยน หน่วยปฏิบัติการวิจัยเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รายงานข้อค้นพบจากการวิจัยเชิงลึก จำนวน 848 กรณีศึกษา ของศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตการศึกษา กสศ. พบว่า เด็กช่วงชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น เป็นกลุ่มที่อยู่ในภาวะวิกฤตหลุดจากระบบการศึกษามากที่สุด ทั้งๆ ที่อยู่ภายใต้นโยบายเรียนฟรี โดยพบว่าสาเหตุส่วนใหญ่เชื่อมโยงครอบครัวทั้งหมด ได้แก่ 1. ผู้ปกครองมีรายได้น้อย โดยรายได้ของครัวเรือนที่มีเด็กกลุ่มวิกฤตฯ เฉลี่ยอยู่ที่ 900 บาทต่อเดือนต่อคน ในขณะที่หนี้สิ้นอยู่ที่ 40,000 บาทต่อครัวเรือน ทำให้แต่ละครอบครัวมีหนี้สินสูงกว่ารายได้ประมาณ 45 เปอร์เซ็นต์ 2. ผู้ปกครองไม่มีงานทำ และตกอยู่ในภาวะสิ้นหวัง 3. ไม่มีค่าเดินทางมาเรียน 4. ครอบครัวแตกแยก พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว 5. ถูกทอดทิ้งไม่มีผู้อุปการะทางการศึกษา ซึ่งทั้งหมดส่งผลให้เด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษาได้

ดร.สุรศักดิ์ กล่าวว่า การวิจัยในพื้นที่ยังพบว่าเด็กวิกฤตการศึกษา จำนวน 73 เปอร์เซ็นต์ มีปัญหาที่ซับซ้อนมากกว่า 1 ปัญหา โยงใยมาที่ครอบครัว ทั้งด้านเศรษฐกิจ สุขภาพกายจิตใจ สวัสดิภาพความปลอดภัย เมื่อเข้าสู่โปรแกรมช่วยเหลือ พบว่าการให้เงินอุดหนุนช่วยเหลืออย่างเดียว ไม่สามารถช่วยให้เด็กพ้นวิกฤตได้ แต่ต้องสนับสนุนให้ครอบครัวมีความสามารถในการอุปการะเลี้ยงดูเด็กได้ด้วย ภาครัฐจำเป็นต้องมีมาตรการเชิงรุก ที่มุ่งสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่พ่อแม่ผู้ปกครองของนักเรียนยากจน สามารถยืนหยัดขึ้นมาพึ่งพาตัวเองได้อย่างภาคภูมิใจ ไม่ใช่มาตรการสงเคราะห์เงินช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว แต่ไม่สามารถแก้ปมปัญหาที่แท้จริงได้

“จากการลงพื้นที่เราพบว่าครัวเรือนเหล่านี้ตกอยู่ในภาวะสิ้นหวัง มองไม่เห็นโอกาสที่จะลืมตาอ้าปาก ทัศนคติเหล่านี้ยังส่งผลลบมาถึงอนาคตทางการศึกษาของบุตรหลานอีกด้วย ในส่วนของการเดินทางมาเรียนก็เป็นอุปสรรคสำคัญ จำเป็นต้องมีสวัสดิการที่ช่วยเติมค่าเดินทาง หรือสวัสดิการรถรับส่งในชุมชนให้เด็กยากจนมาเรียนได้ เราพบว่าเด็กที่สามารถพ้นวิกฤตได้ยั่งยืน ซึ่งมีอยู่จำนวน 32 เปอร์เซ็นต์ จากการช่วยเหลือที่ผ่านมาเป็นเพราะมีกลไกในพื้นที่สนับสนุนให้พ่อแม่สามารถมีอาชีพ ลืมตาอ้าปากได้ และมีทางเลือกการศึกษาที่เหมาะกับข้อจำกัดในชีวิตของเด็กและเยาวชนแต่ละคน”

ศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตการศึกษา เป็นโครงการวิจัยพื้นที่และช่วยเหลือฉุกเฉินเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบบการศึกษาด้วยการเชื่อมโยง บูรณาการทุกหน่วยงานในพื้นที่ โดยความร่วมมือของ กสศ. กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ

นอกจากนี้ มีการเปิดวงพูดคุยสะท้อนความเห็นเกี่ยวกับผลการศึกษาดังกล่าว พร้อมทั้งเสนอกลไกความร่วมมือเพื่อรองรับภาวะวิกฤตเด็กหลุดจากระบบ โดยมี ศิริพร พรมวงศ์ หรือ ครูอ๋อมแอ๋ม ผู้ริเริ่ม Free From School เครือข่ายคลองเตยดีจัง ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ ตัวแทนกลุ่มนักเรียนเลว ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ว่าด้วยวิธีคิดของระบบการศึกษา ไม่ว่าจะวิธีคิดของครูในโรงเรียนที่มีการขู่ไล่เด็กออกจากโรงเรียนบ่อยครั้ง ไม่สร้างบรรยากาศที่ดีให้กับเด็ก หรือวิธีคิดในการให้คุณค่าของการเรียนในระบบและนอกระบบที่แตกต่างกัน ทำให้ผู้ปกครองมีความรู้สึกไม่สบายใจที่จะส่งลูกของตัวเองไปเรียนนอกระบบ

ว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคก้าวไกล และตัวแทนสภาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) พรรคเพื่อไทย ยังเข้าร่วมแสดงความเห็นและหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้ผลการศึกษาเหล่านี้สามารถถูกนำไปปฏิบัติและแก้ไขปัญหาเด็กหลุดออกนอกระบบได้จริง ผ่านกลไกทางการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับประเทศ โดยในการทำงานจะมุ่งเน้นไปที่การให้ความสำคัญกับร่วมมือและประสานกับเครือข่ายและชุมชนต่างๆ เพื่อที่จะสามารถเข้าใจปัญหาของเด็กหลุดนอกระบบการศึกษาได้อย่างถูกต้อง