นับเป็นประเด็นร้อนโผล่ขึ้นมา รอให้ “รัฐบาลชุดใหม่” เข้ามาจัดการสะสางกับปัญหาส่วยสติกเกอร์รถบรรทุกที่ถูกหมกไว้ใต้พรมปล่อยผ่านมาเนิ่นนาน “ลุกลามกระจายไปทั่วทุกภูมิภาค” จนทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนส่งทางบกทนไม่ไหวพากันออกมาเปิดโปงขบวนการส่วยทางหลวงช่วงที่ผ่านมานี้
สะเทือนถึง “ผบ.ตร.” ต้องสั่งให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเร็วแล้วส่งสาระสำคัญถึงตำรวจทั่วประเทศ “ห้ามเรียก รับ ยอมรับผลประโยชน์จากผู้ประกอบการรถบรรทุก หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง” เพื่อละเว้นการจับกุมโดยเฉพาะรถบรรทุกที่ใช้สติกเกอร์ติดหน้ารถสัญลักษณ์แสดงการจ่ายผลประโยชน์ให้แก่เจ้าหน้าที่ตามที่เป็นข่าวนั้น
สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า “ขบวนการคอร์รัปชัน” ยังเป็นปัญหาวิกฤติที่ “ประชาชน” ต่างเรียกร้องต้องการให้ “รัฐบาลปราบปรามคนโกงลงมืออย่างจริงจังแบบไม่เลือกปฏิบัติมาตลอด” เพื่อให้สังคมไทยปราศจากการทุจริตคอร์รัปชันนี้ ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) บอกว่า
เท่าที่รับฟังข้อมูลจาก “ภาคธุรกิจ” ในช่วงหลายปีมานี้ปรากฏพบ “การคอร์รัปชันรุนแรงสูงขึ้นมาก” แล้วด้วยปัจจุบันประชาชนกล้าพูดไม่ยอมทนก้มหัวให้ผู้มีอิทธิพลคนโกงอีกต่อไป “จึงใช้เทคโนโลยี และสื่อโซเชียลมีเดีย” เป็นเครื่องมือในการบันทึกสอดส่องตรวจวิเคราะห์ความเชื่อมโยงเครือข่ายการโกงกันอย่างกว้างขวาง
...
ทำให้เจอเบาะแสหลักฐาน “ข้าราชการบางคนทำการคอร์รัปชันชัดเจนขึ้น” จนสามารถนำมาสู่การตรวจสอบขยายผลจับกุมผู้ทำการทุจริตดำเนินคดีตามกฎหมายที่ปรากฏเป็นข่าวในช่วงนี้กันอย่างต่อเนื่อง
แต่ก็มีข้อสังเกตว่า “รูปแบบการรีดไถชาวบ้านในการติดต่องานราชการลดน้อยลง” แต่กลับปรากฏพบ “การเรียกรับประโยชน์ในภาคธุรกิจ หรือผู้ประกอบกิจการค้าขาย” ไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็ก หรือขนาดใหญ่เยอะขึ้นส่วนหนึ่งมาจาก “ขบวนการคอร์รัปชันเกิดการเรียนรู้” ปรับตัวให้สอดรับสถานการณ์ปัจจุบันนั้น
เพราะด้วย “การรับสินบนเล็กๆน้อยๆจากชาวบ้าน” มักเสี่ยงถูกร้องเรียกตรวจสอบ “ทำแล้วไม่คุ้มค่าเสี่ยงถูกจับ” ทำให้ต้องหันมาหาผลประโยชน์จาก “ภาคธุรกิจ” ที่มีช่องทางเรียกรับเงินก้อนโตได้ง่ายๆ ด้วยการใช้อำนาจดุลพินิจของการเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย และบีบให้ผู้ประกอบการบางรายจำเป็นต้องจ่ายเงินโดยมิชอบนั้น
กระทั่งกลายเป็น “การสมรู้ร่วมคิดกัน” แต่เมื่อทำบ่อยจนเกิดความเคยชินแล้วก็เห็นว่า “การจ่ายสินบนเล็กๆน้อยๆ คุ้มค่าต่อธุรกิจตัวเอง” ส่งผลทำให้ผู้ประกอบการบางรายเต็มใจยอม “จ่ายส่วย” เพื่อให้ได้รับการปกป้องคุ้มครองจาก “เจ้าหน้าที่รัฐ” ให้ได้รับการอำนวยความสะดวกเพื่อให้เกิดความราบรื่นในการดำเนินธุรกิจนั้น
ทว่าหากย้อนดู “พฤติการณ์จ่ายสินบนในไทย” ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันจำแนกได้ 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มแรก...“ผู้ทำผิดกฎหมาย” โดยเฉพาะพวกธุรกิจมีลักษณะความคาบเกี่ยวกับการกระทําผิด เช่น เจ้ามือหวยใต้ดิน บ่อน ซ่อง พนันออนไลน์ และขบวนการขนแรงงานต่างด้าวเถื่อน ที่มักจ่ายเพื่อหลบเลี่ยงถูกจับกุมดำเนินคดี
กลุ่มที่สอง...“ผู้ประกอบกิจการธุรกิจถูกกฎหมาย” แต่ก็ต้องยอมจ่ายเพื่อตัดปัญหาการรบกวนอย่างเช่น ธุรกิจสถานบันเทิง หรือส่วยเทศกิจที่มักมีข่าวเกิดขึ้นเป็นประจำ “แล้วถ้าไม่จ่ายก็จะถูกรบกวนหาเรื่องต่างๆ นานา” โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่เป็นข่าวอยู่นี้ “ส่วยรถบรรทุก” ที่ไม่ใช่เรื่องใหม่เกิดขึ้นมานานกว่า 50 ปีแล้ว
สมัยก่อนถ้าพูดถึง “ส่วยรถบรรทุก” ส่วนใหญ่มักมีลักษณะกินเล็กกินน้อยตามด่านลอย หรือป้อมยามตรวจริมถนน “ก่อนมีวิวัฒนาการพัฒนาประสิทธิภาพการเก็บเพิ่มยอดสูงขึ้น” ทำให้ขนวนการคอร์รัปชันที่เคยแอบหลบซ่อนอยู่ตามจุดต่างๆ “สามารถรีดไถ” ครอบคลุมทั่วถึงทุกพื้นที่ของประเทศไทยแล้วด้วยซ้ำ
สอดรับตรงกับ “ผู้ประกอบการรถบรรทุก” ที่นำข้อมูลออกมาเปิดเผยกรณี “ส่วยสติกเกอร์มีไม่ต่ำกว่า 30 เจ้า” ส่วนใหญ่เป็นผู้มีอิทธิพล ข้าราชการเกษียณ หรือเจ้าหน้าที่รัฐบางคน ทำตัวเรียกเก็บผลประโยชน์แล้วกระจายให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อให้ได้รับการปกป้องคุ้มครอง และดูแลอำนวยความสะดวกให้กันและกัน
และมีคำถามว่า “รถบรรทุกไม่จ่ายส่วยทางหลวงจะเกิดอะไรขึ้น...?” แน่นอนว่าสิ่งที่ต้องเจอมักจะต้องถูกเจ้าหน้าที่เรียกตรวจหาความผิดแบบจุกจิกเล็กน้อยอยู่บ่อยครั้ง ตั้งแต่ขอดูเอกสาร ใบขับขี่ หนังสือจดทะเบียน บรรทุกสินค้าประเภทใด ผ้าใบคลุมรถยึดแน่นหนา หรืออุปกรณ์ส่วนควบถูกต้องหรือไม่
เสมือนเป็นการกดดันทำให้ “รถบรรทุกกว่า 20% จ่ายส่วยรายเดือน” เพราะหลายคนมองว่าคุ้มค่าแต่สิ่งนี้กลายเป็นผลกระทบให้ประเทศสูญเสียรายได้มหาศาล ทั้งยังเกิดความเสียหายมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท/ปี
แล้วในแง่ “เศรษฐกิจ” ยังสร้างความเสียหายเพิ่มขึ้นกว่านั้นถึง 10 เท่า เพราะการบรรทุกน้ำหนักเกินกว่ากำหนดนั้น “ทำให้ถนนเสียหายต้องเสียงบประมาณซ่อมแซมบ่อย” ทั้งยังนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนจนเกิดการบาดเจ็บล้มตายกันจำนวนมาก แล้วมักจะก่อเกิดความไม่เป็นธรรมในสังคมตามมาด้วย
ไม่เท่านั้นสิ่งสำคัญอาจนำมาซึ่ง “ส่วยสติกเกอร์กระทำความผิดกันอย่างโจ๋งครึ่มมากขึ้น” เพราะการบรรทุกน้ำหนักเกินนี้ “ลดต้นทุนการขนส่งค่อนข้างมาก” แล้วมีผลต่อการตัดราคารถบรรทุกทำถูกกฎหมายรายอื่น จนจะกลายเป็นว่า “ผู้ถูกเอาเปรียบ” ต้องหาทางให้ธุรกิจอยู่รอดก็อาจหันมายอมจ่ายส่วยด้วยเหมือนกัน
“เช่นนี้เงินสินบนถูกจ่ายไปนั้นมักถูกนำมาบวกลงกับต้นทุนการผลิต ทำให้สินค้าอุปโภคบริโภคบางประเภทต้องปรับราคาแพงขึ้น สุดท้ายผลกระทบนี้ย่อมตกอยู่กับประชาชนต้องแบกรับค่าครองชีพสูงขึ้น” ดร.มานะ ว่า
จริงๆแล้ว “ปัญหาส่วยทางหลวง” ผู้ประกอบการภาคการขนส่งมีการรณรงค์เรียกร้องให้ “ภาครัฐ” ดำเนินการแก้ไขกันมายาวนานมาก “แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับทำตัวนิ่งเฉย” มักตั้งคำถามหาหลักฐานมายืนยันเสมอ แต่ถ้ามีหลักฐานไม่ชัดเจน “ผลการตรวจสอบมักไม่พบมูลความผิด” กลายเป็นเสมือนการฟอกขาวแทนทันที
ฉะนั้นวันนี้ “โลกเปลี่ยนเข้าสู่ยุคแห่งเทคโนโลยีสมัยใหม่” ทำให้เริ่มเห็นหน่วยงานหลายแห่งทั่วโลก “นำเทคโนโลยีมาใช้แก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันกว้างขวางมากขึ้น” สำหรับประเทศไทยก็มีผู้นำเสนอให้เลิกใช้คนเฝ้าตรวจรถเกินน้ำหนัก “หันมาใช้หุ่นยนต์เฝ้าแทน” อันเป็นระบบที่รถบรรทุกวิ่งผ่านแล้วรู้น้ำหนักได้ทันที
ประการถัดมาสำหรับ “ความคาดหวังกับรัฐบาลชุดใหม่ในการปราบโกง” เรื่องนี้ก่อนการเลือกตั้งนั้นเคยมีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่างสะท้อนออกมาเป็นเสียงเดียวกันว่า “คอร์รัปชันเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน” แล้วก็เห็นพรรคการเมืองอย่างน้อย 8 พรรค มีการประกาศชูนโยบายปราบปรามคอร์รัปชันนี้ด้วย
เหตุนี้ทำให้เชื่อว่า “ระยะสั้นรัฐบาลชุดใหม่” ค่อนข้างจริงจังในการแก้ปัญหาส่วยสินบนทางหลวง แน่นอน แต่ในระยะยาวอาจต้องขึ้นอยู่กับ “สังคมจะมีพลังต่อต้านการคอร์รัปชันต่อเนื่องมากน้อยเพียงใด” เพราะสิ่งนี้จะเป็นแรงกดดันต่อ “หน่วยงานภาครัฐ” ขับเคลื่อนปราบปรามการทุจริตของบุคลากรในภาคราชการนั้น
แล้วสิ่งที่ทำได้เลยคือ “การเปิดเผยข้อมูลของหน่วยงานรัฐ” เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงทุกแหล่งข้อมูลจะช่วยตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใสได้ เพราะที่ผ่านมามักอ้างกฎหมายข้อมูลข่าวสาร 2540 “แต่กลับเปิดเผยกันบางส่วน” แล้วยิ่งเว็บไซต์บางหน่วยงาน “ไม่เคยอัปเดตข้อมูลมาเป็นปี” ด้วยต้นสังกัดไม่เคยตรวจสอบควบคุมกัน
ในส่วน “ระดับรัฐบาล” หากปรากฏพบว่า “ส.ส.ในพรรค หรือ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลคนใด” มีพฤติการณ์เข้าข่ายการทุจริตคอร์รัปชันแล้วไซร้ “ควรดำเนินการจัดการอย่างเด็ดขาดทันที” โดยไม่จำเป็นต้องรอ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด หรือรอให้ศาลเป็นผู้พิจารณาตัดสินคดีนั้น ถ้าทำเรื่องนี้ได้ปัญหาอย่างอื่นจะแก้ไขได้ง่ายตามมา
สุดท้ายหวังว่า “กระแสสังคมต้องการแก้ปัญหาคอร์รัปชันครั้งนี้” จะเป็นแรงดันต่อรัฐบาลชุดใหม่ในการปราบปรามการทุจริตในวงข้าราชการ และสะสางปัญหาส่วยสินบนทางหลวงให้สิ้นซากเสียที.