ราชกิจจานุเบกษา ประกาศ ระเบียบราชทัณฑ์ฉบับใหม่ ว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ถูกกักกัน เปิดช่องให้นักโทษ เมื่อเข้าเรือนจำ มีช่องทางให้ร้องทุกข์ถวายฎีกา นำตัวไปพักรักษานอกเรือนจำ หรือ “สถานกักกัน” ตามรัฐมนตรีกำหนด มีผลบังคับใช้แล้ว

วันที่ 7 มิ.ย. 2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ถูกกักกัน พ.ศ. 2566 ลงวันที่ 6 มิ.ย.2566  ซึ่งมีเนื้อหาน่าสนใจว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติมระเบียบกรมราชทัณฑ์ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติต่อผู้ถูกกักกัน ให้มีความเหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการกักกันตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2510 อธิบดีกรมราชทัณฑ์จึงออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ถูกกักกัน พ.ศ. 2566”

ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป

ข้อ 3 ให้ยกเลิกระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ถูกกักกัน พ.ศ. 2565 บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หรือหนังสือสั่งการอื่นใด ซึ่งขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ ให้ใช้ระเบียบนี้แทน

ข้อ 4 ในระเบียบนี้ “สถานกักกัน” หมายความว่า สถานกักกัน หรือเขตกักกัน ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด สำหรับควบคุมผู้ถูกกักกัน

“ผู้ถูกกักกัน” หมายความว่า ผู้ซึ่งถูกศาลพิพากษาให้กักกัน “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งอธิบดีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติ วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการกักกันตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2510

...

“อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ข้อ 5 ให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์ รักษาการตามระเบียบนี้ มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้

สำหรับประกาศ มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่ต้องถูกกักกัน อาทิ ข้อ 36 ผู้ถูกกักกันมีสิทธิยื่นคำร้องทุกข์หรือเรื่องราวใด ๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้อำนวยการสถานกักกัน อธิบดี รัฐมนตรี หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง หรือทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา ต่อพระมหากษัตริย์ การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือสถานที่ที่สถานกักกันจัดไว้เพื่อดำเนินการจัดส่งไปยังบุคคลหรือหน่วยงานที่ผู้ถูกกักกันประสงค์ก็ได้

ข้อ 37 ผู้ถูกกักกันจะยื่นคำร้องทุกข์ด้วยวาจา หรือโดยทำเป็นหนังสือก็ได้ ถ้ากระทำด้วยวาจา ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งรับคำร้องทุกข์เป็นผู้บันทึกคำร้องทุกข์ ในบันทึกคำร้องทุกข์ หรือหนังสือร้องทุกข์นั้น ต้องลงลายมือชื่อผู้ร้องทุกข์และพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งรับคำร้องทุกข์ด้วย

ข้อ 38 การเขียนหนังสือร้องทุกข์หรือเรื่องราวใดๆ หรือการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา ผู้ถูกกักกัน ต้องเขียนด้วยตนเอง เว้นแต่ไม่สามารถเขียนด้วยตนเองได้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาให้ความช่วยเหลือ ตามความประสงค์ของผู้ถูกกักกัน ในกรณีที่ผู้ถูกกักกันไม่สามารถจัดหาเครื่องเขียนส่วนตัวได้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จัดหาให้

ข้อ 39 เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับคำร้องทุกข์หรือเรื่องราวใดๆ หรือฎีกาที่ทูลเกล้าฯ ถวายแล้วให้พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายตรวจดูข้อความและตรวจสอบข้อเท็จจริง แล้วทำความเห็นเสนอ ผอ.สถานกักกัน พร้อมกับแนวทางการแก้ไขหรือการให้ความช่วยเหลือ

ข้อ 40 คำสั่งหรือคำชี้แจงตอบคำร้องทุกข์หรือเรื่องราวใดๆ หรือการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาต้องแจ้งให้ผู้ถูกกักกันซึ่งยื่นคำร้องทุกข์ หรือเรื่องราวใดๆ หรือทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาทราบ และให้ผู้ถูกกักกันคนนั้นลงลายมือชื่อรับทราบไว้เป็นหลักฐาน